‘ลดดอกเบี้ย’ สำคัญที่คำอธิบาย
กรณี นายกฯ เรียกนายแบงก์มาหารือเรื่องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนั้น
ต้องรอดูว่าสมาคมธนาคารไทย จะออกมาตรการลดดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (ดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย) ตามกรอบแนวคิดของนายกฯ หรือไม่
ภาพที่นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง “เศรษฐา ทวีสิน” เรียกนายแบงก์ 4 แห่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกรุงไทย มาหารือเพื่อขอร้องให้พิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชนรายย่อย ที่เดือดร้อนจากปัญหาดอกเบี้ยสูง
มีคำถามมาว่า “เป็นการแทรกแซง” การทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” หรือไม่ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติ “นายกฯ ต้องหารือผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” จากนั้น “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะไปหารือธนาคารพาณิชย์” ให้พิจารณาลดดอกเบี้ยโดยอิงตามดอกเบี้ยนโยบายคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงย้อนแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็น
ที่ผ่านมา “รัฐบาล” พยายามส่งสัญญาณให้ “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ก็ยังมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2.5 เช่นเดิม เป็นการยืนยันท่าทีในการรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างแข็งขัน
ล่าสุด “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมายืนยันว่า กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่เขามองว่าปีนี้และปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินโดยรวมก็ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแล้ว
ดังนั้น จึงต้องรอดูว่าสมาคมธนาคารไทยจะออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางด้วยการปรับลดดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย) ตามกรอบแนวคิดที่ “นายกรัฐมนตรี” พยายามสื่อสารออกมาหรือไม่ ซึ่งหากทำตามมาตรการนี้ผู้ที่รับอานิสงส์ก็จะเป็นผู้กู้ที่มีภาระผ่อนบ้าน หรือจะเป็นมาตรการลดดอกเบี้ยแบบตรงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในอดีตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี
ที่สำคัญการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางสามารถทำได้ ตั้งแต่การลดการผ่อนชำระต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือหากลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ หรือสนับสนุนวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น
แต่หากการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะ “นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง” ขอร้องให้ดำเนินการ อาจสร้างความไม่เข้าใจให้กับนักลงทุนได้ เพราะดอกเบี้ยคือรายได้ เป็นดอกผลที่นักลงทุนต้องการ หากลดดอกเบี้ยก็เท่ากับรายได้หดหายไป จะอธิบายอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจว่าเป็นการกระทำเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ ที่สำคัญรัฐบาลไทยจะอธิบายต่อนักลงทุนอย่างไรว่า เป็นการแทรกแซงที่ทำเพื่อประชาชน