‘คลัง’ แจงแผนใช้เงิน ‘ธ.ก.ส.’ แจก ‘เงินดิจิทัล’ รองบฯ 68 ก่อนชงบอร์ดเห็นชอบ

‘คลัง’ แจงแผนใช้เงิน ‘ธ.ก.ส.’ แจก ‘เงินดิจิทัล’ รองบฯ 68 ก่อนชงบอร์ดเห็นชอบ

“คลัง” แจงขั้นตอนใช้แหล่งเงิน ธ.ก.ส. 1.72 แสนล้านบาท ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ต้องรองบฯ 68 มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.67 ก่อนเสนอวาระเข้าบอร์ด ธ.ก.ส.

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.72 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อยู่บ่อยครั้งในหลายรัฐบาล อีกทั้งโครงการส่วนมากยังดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ประกันราคาสินค้าเกษตร จำนำข้าว ไร่ละพัน  

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อกังขาและการตั้งคำถามของหลายฝ่าย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ กระทรวงการคลังเตรียมที่จะส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินงานถูกต้องและสร้างความสบายใจให้ทุกฝ่าย  

นายลวรณ กล่าวว่า การใช้งบประมาณจาก ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 สำหรับปีงบประมาณ 2568 จะดำเนินการได้ในวันที่ 1 ต.ค.2567 ส่วนในตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องชดใช้คืนเท่าไหร่ พอถึงเวลากระทรวงการคลังก็จะตั้งโครงการ จัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ แล้วเสนอวาระเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในรายละเอียด 

"ขั้นตอนเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้น แต่ยังเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะงบฯ ปี 68 ยังไม่เห็นยอด ซึ่งเราพร้อมจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย"

ทั้งนี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ต่อจากนี้จะเป็นการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบดำเนินการต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 

1.กระทรวงการคลัง การจัดหาแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ 

2.กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ (Negative List) เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ

3.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ร่วมกันพัฒนาระบบหรับโครงการ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม 

4.คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบและการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งมีรองผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะรับผิดชอบตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และอื่นๆ