ปิดตำนานฝูงบินโบอิ้ง 747 - 400 ‘การบินไทย’ เทขายหมด 18 ลำ
“การบินไทย” เร่งปิดดีลขายเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดส่งมอบโบอิ้ง 747 - 400 ลำสุดท้าย ปิดตำนานฝูงบิน 18 ลำ ที่เคยให้บริการเส้นทางพิสัยไกล พร้อมอัพเดตอยู่ระหว่างเจรจาขายฝูงบินแอร์บัส 380 และโบอิ้งตระกูล 777 ที่ปลดระวาง
KEY
POINTS
- "การบินไทย" เร่งปิดดีลขายเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดส่งมอบโบอิ้ง 747 - 400 ลำสุดท้าย ปิดตำนานฝูงบิน 18 ลำ ที่เคยให้บริการเส้นทางพิสัยไกล
- "ดีดีการบินไทย" ระบุอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญาซื้อขายฝูงบินแอร์บัส 380 และโบอิ้งตระกูล 777 ที่ปลดระวางรวมจำนวน 18 ลำ ลั่นหากแล้วเสร็จ ปิดจ็อบขายสินทรัพย์ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดตำนานฝูงบินรุ่นโบอิ้ง 747 - 400 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีโบอิ้ง 747-400 ประจำในฝูงบินจำนวน 18 ลำ ให้บริการในเส้นทางพิสัยไกล แต่ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประกอบกับการปรับกลยุทธ์เส้นทางบินของบริษัทฯ จึงได้ทยอยจำหน่ายอากาศยานรุ่นนี้ ซึ่งล่าสุดการบินไทยได้ทำการส่งมอบอากาศยานรุ่น B747-400 ลำสุดท้าย หมายเลขทะเบียน HS-TGG “ปทุมาวดี” ให้กับบริษัท อาร์พีเอส ซิสเต็ม จำกัด นับเป็นการปิดตำนาน B747-400 “Queen of the Skies” ที่อยู่คู่การบินไทยมาอย่างยาวนาน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ปลดระวางและอยู่ระหว่างเจรจาขายจำนวน 18 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นแอร์บัส 380 และตระกูลโบอิ้ง 777 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง สามารถทำการบินในพิสัยไกล โดยขณะนี้การบินไทยอยู่ในขั้นตอนเร่งเจรจากับผู้ซื้อ เพื่อทำสัญญาซื้อขาย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และจะส่งผลให้แผนการขายสินทรัพย์ประเภทอากาศยานของการบินไทยแล้วเสร็จ
สำหรับอากาศยานที่การบินไทยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อขาย จำนวน 18 ลำ ประกอบด้วย
- โบอิ้ง 777 – 200 จำนวน 6 ลำ
- โบอิ้ง 777 – 300 จำนวน 6 ลำ
- แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ
อย่างไรก็ดี การบินไทยมีแผนบริหารฝูงบิน ภายหลังเข้าฟื้นฟูกิจการ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2556 มีเครื่องบินรวมทั้งสิ้นจำนวน 100 ลำ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ได้ปลดระวางเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพ มีค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี มีมูลค่าการลงทุนสูงและไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุงเพื่อคืนสภาพให้สามารถกลับมาปฏิบัติการบิน
ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 การบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการบินเหลือเพียงจำนวน 64 ลำ หรือมีขนาดฝูงบินรวมลดลง 36% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 โดยระหว่างปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา การบินไทยได้แก้ไขข้อจำกัดด้านฝูงบินโดยการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว
โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 21 ลำซึ่งทยอยรับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแบบ Airbus 350 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Rolls-Royce แบบ Trent XWB และจะเริ่มทยอยรับเครื่องบินลำตัวแคบแบบแอร์บัส 321neo ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนเครื่องบินในฝูงบินของการบินไทยเพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำในปี 2566 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำในปี 2567 และ 90 ลำในปี 2568 ตามลำดับ