“แรงงาน”กระเป๋าแบนไร้แผนออมซ้ำ“หนี้-ค่าครองชีพสูง”เบียดกำลังซื้อ

“แรงงาน”กระเป๋าแบนไร้แผนออมซ้ำ“หนี้-ค่าครองชีพสูง”เบียดกำลังซื้อ

ใกล้วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดทำผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากการสำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 19-25 เม.ย. 2567

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ นักวิชาการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างตอบว่าปัจจุบันครัวเรือนของท่านมีหนี้สินหรือไม่ ส่วนใหญ่ 98.8%ตอบว่ามี  ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าปี 2566 ที่ผ่านมา  ที่มีสัดส่วนถึง 99.1% เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ในการกู้ ส่วนใหญ่ 17.5% ตอบว่า หนี้ส่วนบุคคล  รองลงมา 11.16% หนี้บัตรเครดิต และ 11.0% ใช้คืนเงินกู้  แต่ก็ยังมีอีก 10.9% ที่บอกว่าเป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 344,522 บาท ส่วนใหญ่ผ่อนชำระเดือนละ 9,295 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ 

เมื่อถามว่า สภานภาพทางการเงินของแรงงานทำให้การใช้จ่ายในปัจจุบันม่ีปัญหาหรือไม่ ส่วนใหญ่ 79.5% ตอบว่ามีปัญหา ในจำนวนนี้ตอบว่าเป็นสาเหตุจาก ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาของเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รายได้ลดลง และมีของที่ต้องการมากขึ้น ตามลำดับ 

“เมื่อมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ส่วนใหญ่ บอกว่า กู้ยืมในระบบ หาอาชีพเสริม หรือขอความช่วยเหลือจากญาติมิตร ดังนั้นเมื่อถามว่า มีการออม หรือเก็บเพื่อยามฉุกเฉินอย่างไร ส่วนใหญ่ 66.2%  ตอบว่าไม่มีแผน”

อยากให้ดูแลค่าครองชีพมากกว่า

สำหรับการประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อเร็วนี้ ว่าจะมีการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศนั้น เมื่อสอบถามแรงงานถึงผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะสามารถยอมรับได้หรือไม่ แรงงานส่วนใหญ 60.8% ตอบว่ารับไม่ได้ พร้อมให้แนวทางแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงงานและค่าครองชีพว่า ให้ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร เป็นต้น 

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน จะปรับค่าแรงขึ้นต่ำ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นการพูดก่อนการประชุมไตรภาคีที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่  14 พ.ค. ดังนั้นจึงยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม หากประเมินอัตราเร่งค่าจ้างแรงงานที่จะปรับเพิ่มขึ้นหากเท่ียบกับจังหวัดภูเก็ตที่อัตราสูงสุดที่ 370 บาทก็จะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งเป็นอัตราปกติที่รับได้ แม้จะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ย 1% ก็ตาม แต่หากเทียบกับจังหวัดส่วนใหญ่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ 330 บาท จะทำให้ค่าแรงกระชากตัวไปถึง 20% เสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงกระทบต่อโครงสร้างของธุรกิจที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและอาจส่งต่อต้นทุนดังกล่าวไปยังราคาสินค้าและบริการซึ่งจะกลับมาเป็นภาระแรงงานและกระทบต่อเงินเฟ้อด้วย 

หนี้ท่วมไร้แผนการออม

“ปีนี้ แรงงานเองมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงระมัดระวังการใช้จ่าย ในอนาคตก็ยังไม่ชัดเจน ยังมีหนี้เหมือนเดิมเงินออมก็ไม่ดี แรงงานจัดการหนี้ได้ในระดับปานกลาง ถึง น้อย เพราะค่าครองชีพสูงจึงต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจเพราะแรงงานกังวลการเลิกจ้างจึง เรื่องปรับค่าแรง 400 บาท แบบเห็นด้วยแต่ไม่เต็มที่นัก กลัวไม่จ้างงานและค่าครองชีพสูงขึ้น”

นอกจากนี้ในส่วนโพล์จากมุมมองนายจ้าง “ทัศนะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ไทย หลังการปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ 400 บาท” จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 403 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. 2567 ระบุว่า อัตราค่าจ้างปัจจุบันประมาณ 80% อยู่ที่ 392 บาทต่อวัน ขึ้นกับประเภทธุรกิจและพื้นที่การจ้างงาน ดังนั้นกลุ่มตัวอย่าง 67.4% ตอบว่าไม่เหมาะสมสำหรับอัตราค่าจ้างใหม่ โดยมองว่าช่วงที่เหมาะสมอยู่ที่ 361-380 บาท 

โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ได้ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่า ในเชิงบวกเมื่อผลิตภาพแรงงานดีขึ้นก็จเพิ่มจีดีพีให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ จากกำลังซื้อของแรงงาน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบ พบว่าหากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป จะเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง ขณะเดียวกันหากผลิตภาพไม่ดีขึ้นก็จะยิ่งทำให้ความสามารถแข่งขันลดลง 

ไทยเตรียมทะยานค่าแรงสูงสุด

ด้านผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่า หากผลิตภาพสูงกว่าต้นทุนค่าแรงก็จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ในทางกลับกันหากนายจ้างแบบรับภาระไม่ไหวก็จะผลักภาระไปที่ราคาสินค้าและบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกลมต่อไป 

ปัจจุบันค่าแรงงานขั้นต่ำสูงสุดในอาเซียนอยู่ที่มาเลเซีย ที่  392 บาท รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 360 บาท อินโดนีเซีย 350 บาท เว่ียดนาม 230 บาท หากไทยขึ้นเป็นวันละ 400 บาทก็จะมีค่าแรงงานสูงสุดในอาเซียน 

 “เราจะไม่ใช้ค่าแรงถูกอีกต่อไป เพื่อดึงดูดการลงทุน หากขึ้นราคาเป็น 400 บาทจริงก็จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 300 ล้านบาทต่อวันหรือเดือนละ 9 พันล้านบาท หากเพิ่มค่าแรง 1 มิ.ย. จะมีเงินกระตุกเศรษฐกิจไทย ช่วง 7 เดือนรวม 7 หมื่นล้านบาท แต่ต้องขึ้นกับว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่อยู่ในมือแรงงานและนำออกมาใช้จ่ายเพิ่ม หรือเป็นเพียงธุรกิจผลักสู่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น "