เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีทักษะ AI การบ้านข้อใหญ่รัฐบาล ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุน

เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีทักษะ AI การบ้านข้อใหญ่รัฐบาล ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุน

ทักษะ AI มีความเป็นมากขึ้นสำหรับแรงงานในอนาคต หลังอีกไม่เกิน 5 ปี องค์กรกว่า 90% จะมีการนำ AI มาใช้ ผลสำรวจ AWS ชี้ชัดนายจ้างพร้อมเพิ่มค่าจ้างให้แรงงานที่มีทักษะ AI สศช.แนะไทยควรทำโปรแกรมรีสกิล - อัพสกิล แรงงานรับยุค AI ณภัทร แนะต้องให้แรงงานทำงานร่วมกับ AI ได้ ไม่ใช้แข่ง AI

ข้อพิจารณาในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากมาตรการดึงดูดการลงทุนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของแรงงานในประเทศนั้นๆ ในโลกที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง แรงงานที่มีทักษะ AI กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆของผู้ลงทุนและนายจ้าง 

โดยคาดว่าในเวลาอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าการใช้ Generative AI ในองค์กรต่างๆจะเป็นเรื่องปกติ และภายในปี 2571 องค์กรส่วนใหญ่จะใช้ AI เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน นำโดยอุตสาหกรรม IT อุตสาหกรรมการเงิน และบริการ และหน่วยงานภาครัฐ

การเข้ามาประกาศการลงทุนตั้งดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกของไทยโดยสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ รวมทั้งประกาศแผนช่วยพัฒนาทักษะ AI ให้กับแรงงานไทย ทำให้เกิดการตื่นตัวกันมากขึ้นถึงความจำเป็นในการสร้างและพัฒนาทักษะAI ให้กับแรงงานไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

AWS ชี้ทักษะ AI สำคัญโลกในโลกอนาคต

ความสำคัญของทักษะ AI กับการทำงานในอนาคตได้รับการตอกย้ำเมื่อเร็วๆนี้ Amazon Web Service (AWS) และ Access Partnership ได้เปิดเผยผลสำรวจการใช้งานและทักษะด้าน AI ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15,000 คน รวมถึงความเห็นจากนายจ้าง 5,000 คน

โดยการสำรวจความเห็นของนายจ้างพบว่ากว่า 51% คาดว่าประสิทธิภาพและการทำงานของคนในองค์กรจะเพิ่มขึ้นจากการใช้ AI โดย AI จะเข้ามาลดการทำงานซ้ำซาก ช่วยปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน และปรับปรุงการสื่อสารในองค์กร

นายจ้างพร้อมเพิ่มค่าจ้างแรงงานที่มีทักษะ AI 

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่านายจ้างกว่า 41% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยินดีจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้พนักงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI และไม่ใช่พนักงานในฝ่าย IT เท่านั้นที่ต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับ AI แต่ยังรวมถึงแผนกอื่นๆเช่นวิจัยและพัฒนา (R&D) การเงิน กฎหมาย  HR รวมถึงในฝ่ายขายและการตลาดก็ต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับ AI ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ในฝั่งของพนักงงาน กว่า 90% ก็เชื่อว่าหากตนเองมีทักษะ AI จะส่งผลเชิงบวกต่ออาชีพการงาน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น และมีความก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจนายจ้างพบว่ายินดีเพิ่มเงินเดือนให้คนมีทักษะ AI ถึง 41% มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย

สศช.แนะรัฐอัพสกิลแรงงานสู่ AI 

การเตรียมความพร้อมเรื่องทักษะ AI ให้กับแรงงานไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านี้นายดนุชา พิชยนันนท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้งาน AI  ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการอัพสกิล และรีสกิล ด้าน AI ให้กับแรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนนี้ต้องมีหลักสูตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะในระยะสั้นอาจเป็นระยะเวลา 3 – 4 เดือนเพื่อให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น

 ทั้งนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะมีการนำ AI มาปรับใช้ ขณะเดียวกัน ขณะที่ผลสำรวจ AI Readiness Index ที่จัดทำโดย Cisco พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 หรือ 20%  ขององค์กรในประเทศไทย ที่มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จาก AI ซึ่งหนึ่งในช่องว่างที่สำคัญ คือ ด้านบุคลากร ที่ยังไม่เปิดรับการใช้ A เท่าที่ควร และยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI

เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีทักษะ AI การบ้านข้อใหญ่รัฐบาล ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุน

สศช.ยังระบุด้วยว่าผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่พบว่า บุคลากรเป็นด้านที่มีความพร้อมน้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะด้าน อาทิ Machine Learning Software Development และ Data Scientists รวมถึงกลุ่มผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI มีอัตราการย้ายงานสูง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดแคลนและทำให้มีการแย่งแรงงาน

จึงควรส่งเสริมให้เกิดการ upskill และ reskill ด้าน AI ให้แก่แรงงานในตลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่มากขึ้น รวมถึงควรมีการสนับสนุนการผลิตแรงงานรุ่นใหมให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับทิศทางการเติบโตของภาคธุรกิจในอนาคต

"ณภัทร" ชี้ AI พัฒนาเร็ว แนะรัฐทำแผนรับมือ 

ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์  กรรมการผู้จัดการบริษัท Siametrics Consulting และ ViaLink และกรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงจาก AI จะรวดเร็วมาก ซึ่งภาครัฐจำเป็นที่ต้องมีนโยบายที่จะรองรับ โดยเมื่อมีการนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มที่ก็จะเกิดผลกระทบตามมา โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวกับแรงงานต่างๆ ซึ่งรัฐต้องมีนโยบายรองรับเช่นกัน

ทั้งนี้มองว่าแรงงานที่ไม่มีทักษะ AI เลยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากการพัฒนา AI นั้นมีความรวดเร็ว และการทำงานของ AI นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนการแข่งขันกับ AI นั้นไม่สามารถทำได้แล้วเพราะประสิทธิภาพ AI นั้นมีการพัฒนาความสามารถไปจนมีความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ในหลายๆด้านแล้ว   

เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีทักษะ AI การบ้านข้อใหญ่รัฐบาล ดึงบิ๊กคอร์ปลงทุน

“มองในมุมของนายจ้าง ประสิทธิภาพการทำงานของ AI นั้นเข้ามาแทนการทำงานในบางตำแหน่งได้แล้ว ในอนาคตแรงงานที่ไม่มีทักษะความรู้ AI จะมีโอกาสตกงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่ภาครัฐจะต้องวางแผนรองรับ”   

ส่วนกรณีที่สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์เดินทางมายังประเทศไทยและประกาศการลงทุนดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกในไทยว่าเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและคาดว่าจะมีอีกหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในเรื่องนี้ในด้านนี้ในไทยเช่นกัน ซึ่งในแง่การลงทุนในส่วนนี้ก็จะคล้ายกับอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะมีห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ต่อเนื่องไปในการผลิตด้านต่างๆ

ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีการสื่อสารกับประชาชนด้วยว่าการเข้ามาลงทุนในส่วนนี้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างไร มีธุรกิจ และอุตสาหกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจบ้างเช่นเดียวกับที่มีการชี้แจงเมื่อมีการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมอื่นๆเช่นยานยนต์ไฟฟ้าแล้วเกิดซัพพลายเชนต่อเนื่อง ซึ่งการให้ข้อมูลลักษณะนี้จะทำให้เกิดความตื่นตัวในทางธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น