ต้นทุนของการท่องเที่ยวกับทางเลือกของ "ภูเก็ต"

ต้นทุนของการท่องเที่ยวกับทางเลือกของ "ภูเก็ต"

ข่าวดีล่าสุดของการท่องเที่ยวไทยก็คือ ไม่ถึง 4 เดือนแรกของปีนี้ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 11 ล้านคนแล้ว และคาดว่าต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็น Golden week ของจีนและญี่ปุ่น ท่องเที่ยวไทยก็จะรับทรัพย์อีก

แต่ความปรีดาปราโมทย์เหล่านี้ ก็ควรจะมาพร้อมกับความระมัดระวังให้มีผลกระทบทางลบน้อยที่สุด การท่องเที่ยวเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน เมื่อมีอานิสงส์ในด้านดีก็มีต้นทุนตามติดมาด้วย ที่รู้ ๆ กันก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ข่าวดังเมื่อก่อนสงกรานต์ที่เสนออีกแง่ของต้นทุนการท่องเที่ยว คือ

นักท่องเที่ยวที่มาอยู่ประเทศไทยได้แปลงโฉมมาเป็นผู้ประกอบการ สร้างรายได้โดยใช้ทรัพยากรของไทยและได้มาทำร้ายคนไทยบนที่สาธารณะที่ตัวเองเข้าไปครอบครอง

เรื่องนี้ชาวภูเก็ตทนไม่ได้มีสุภาพสตรีกลุ่มหนึ่งถึงกับนุ่งโจงกระ เบนสองมือถือดาบ (มีนัยว่าเป็นลูกหลานท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร) ไปประท้วงถึงสถานที่เกิดเหตุเพื่อจะแสดง การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ให้เห็นว่าแผ่นดินนี้เป็นของคนไทย

สื่อต่าง ๆ ก็ออกมาโหมโรงประโคมว่า ถึงการท่องเที่ยวจะสำคัญแค่ไหนสำหรับประเทศนี้  นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะไม่เป็นคนที่มี อภิสิทธิ์อยู่เหนือ คนไทยและรังแกคนไทยได้ เรื่องนี้ขยายไปถึงการเรียกคืนพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการกำกับภาคท่องเที่ยว 

กลไกที่ใช้พัฒนาการภาคเศรษฐกิจ ที่อาศัยด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกของประเทศให้ไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น นอกจากจะอาศัยรายได้เฉพาะหน้าแล้วก็ยังจะต้องเพิ่มความสามารถในการผลิตในระยะยาวกล่าวคือ

ต้องอาศัยรายได้ที่ได้มาจากการท่องเที่ยว เข้ามาลงทุนเพื่อเพิ่มทักษะและผลิตภาพการผลิต (productivity) ของคนท้องถิ่นทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต (manufacturing industries) จะใช้วิธีการใช้กำไรเพิ่มทุนเข้าไปเปลี่ยนเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องจักร ทำให้คนงานสามารถผลิตได้มากขึ้นคนท้องถิ่นสามารถมีรายได้มากขึ้น โดยใช้แรงงานในเวลาที่ลดลงหรือที่เรียกกันว่า less for more ภาษีที่ได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะนำไปเพิ่มความรู้และทักษะของประชาชน

นอกจากนั้น หากรัฐเอาภาษีจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปพัฒนาสาธารณูปโภคท่องเที่ยว รวมทั้งสาธารณูปโภคทั่วไปในท้องถิ่นจะทำให้ภาคเศรษฐกิจสร้างอานิสงส์ถ้วนหน้า ไม่ใช่จะมีผลประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนในการท่องเที่ยวเท่านั้น

ต้นทุนของการท่องเที่ยวกับทางเลือกของ \"ภูเก็ต\"

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งไม่เหมือนอุตสาหกรรมผลิต การท่องเที่ยวไม่ได้ใช้ทักษะสูง ไม่ได้อาศัยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งต้องเพิ่มทักษะให้พนักงาน

เท่าที่ผ่านมา โอกาสการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้พนักงานจึงค่อนข้างต่ำ ผลิตภาพเกิดจากประสบการณ์มากกว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คุณค่าของการให้บริการอยู่ที่อัธยาศัยไมตรีที่ดี ความสุภาพอ่อนโยน

ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนไทยตามปกติอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเป็นการบำรุงรักษาอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค

การลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นเป็นการลงทุนในระบบอินเทอร์เน็ต และในปัจจุบันก็ต้องเพิ่มการการลงทุนในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI)  ยิ่งในปัจจุบัน AI เข้ามาแทนที่พนักงานในเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศ ก็ยิ่งต้องการแรงงานที่มีมีความรู้ด้านภาษาน้อยลงไปอีก 

เนื่องจากบริการการท่องเที่ยวต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างที่พักและสถานบริการประเภทต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงมักจะเกี่ยวข้องกับการขึ้นราคาของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่

อย่างที่เราเห็นในภูเก็ตกระทั่งคนไทยซื้อไม่ได้ ผลก็คือเกิดการเฟ้อของราคาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ที่ภูเก็ตขยับเพดานสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนคนไทยทั่วไปและคนท้องถิ่นไม่มีโอกาสที่จะครอบครองที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง ๆ

เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างรายได้ ดังนั้น รายได้ส่วนเกินส่วนใหญ่ก็จะกลับไปสู่ผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้ค่าตอบแทนไม่สูงนัก บันไดด้านอาชีพ (occupational ladder) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงไม่ค่อยยาวไกล

ต้นทุนของการท่องเที่ยวกับทางเลือกของ \"ภูเก็ต\"

เมื่อนักท่องเที่ยวมามากขึ้นค่าครองชีพ เช่น ค่าอาหารและค่าเดินทางทุกอย่างในเมืองท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นตามอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งการท่องเที่ยวอาจทำให้มีการจราจรมากทำให้เมืองท่องเที่ยวมักมีอุบัติเหตุสูง ทั้ง ๆ ที่การจราจรติดขัดมาก

ซึ่งปัญหาจราจรติดขัดนี้เกิดขึ้นทุกเมืองท่องเที่ยว นี่ก็คือต้นทุนของการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในภูเก็ตและเมืองเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ไม่ว่าผู้รับผลกระทบผู้นั้นจะเป็นผู้ลงทุนและได้รับผลตอบแทนจากการท่องเที่ยวหรือไม่ก็ตาม

ต้นทุนอีกอย่างหนึ่งของภูเก็ตก็คือ ธุรกิจสีดำและสีเทาที่ติดตามการท่องเที่ยวมาด้วย ซึ่งประกอบด้วย การค้ามนุษย์ การพนัน การค้ากัญชา ยาเสพติด ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่มีเงินมากและผู้บริโภคอยู่ในสภาพที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ

ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ก็ยิ่งมีโอกาสเฟื่องฟูมาก ยิ่งในประเทศที่มีกฎระเบียบมากแต่การบังคับหย่อนยานเช่นประเทศไทยก็ยิ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของมาเฟีย อีกทั้งมาเฟียยังสามารถที่จะคบค้าสมาคมกับผู้ทรงอิทธิพลและผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้เฟื่องฟูขึ้นไปอีก

การปล่อยให้ธุรกิจสีเทาเข้ามามากก็จะทำให้ภูเก็ตติดกับดักรายได้สีเทาไม่สามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมได้

เมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวโดยขายทรัพยากรธรรมชาติเช่นภูเก็ตนั้น ถ้าปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากเกินกว่าความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวแล้วก็จะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเลวลง เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด 19 ระบาด

ในช่วงที่ท่องเที่ยวภูเก็ตบูมราวกับตะเข็บจะปริ ขณะนั้นสภาพท่องเที่ยวของภูเก็ตเสื่อมโทรมลงมาก แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึกจนกระทั่งเมื่อโควิด 19  สงบลงและธรรมชาติฟื้นตัว มีสัตว์น้ำหายากเข้ามาหากินตามชายฝั่ง

คนภูเก็ตจึงเริ่มรู้ซึ้งว่าการท่องเที่ยวได้ทำลายทรัพยากรไปมากแค่ไหน แต่พอธุรกิจท่องเที่ยวกลับมา ทุกคนก็ลืมเรื่องความยั่งยืนไปและเตรียมพร้อมที่จะทุบหม้อข้าวตัวเองอีกครั้ง

ต้นทุนของการท่องเที่ยวกับทางเลือกของ \"ภูเก็ต\"

เราอยากเห็นภูเก็ตเป็นอย่างไรในอนาคต?

ภูเก็ตไม่ใช่เป็นเมืองของคนภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองในฝันของคนไทยทุกคนด้วย การศึกษาของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งได้ทำฉากทัศน์ในอนาคตของการท่องเที่ยวในภูเก็ต

โดย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ได้เสนอฉากทัศน์ทางเลือกทั้ง 4 ได้แก่ ริเวียร่าแห่งอันดามัน  ไมอามีตะวันออก เมืองติดกับดักท่องเที่ยวรายได้ปานกลาง หรือร้ายที่สุดคือดิสโทเปียการท่องเที่ยว

ทั้งหมดนี้คนภูเก็ตต้องเป็นเป็นผู้นำในการตัดสินใจเหมือนกับที่เคยเป็นผู้นำพาภูเก็ตผ่านพ้นหุบเหวมรณะของโควิด 19 มาได้ 

ดาวน์โหลดเอกสาร แนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย 4.0