‘ไทย-เวียดนาม’ไล่บี้ส่งออกข้าวปี 67 จับตา ‘อินเดีย’ แผ่วปลาย
ไทย-เวียดนาม คู่แข่งส่งออกข้าวปี 67 เผยไตรมาสแรกอินเดียส่งออกข้าวอันดับ1 รองลงมาเป็นไทย และเวียดนาม จับตาอินเดียจำกัดการส่งออกข้าวต่อ ส่งผลไทย-เวียดนาม เป็นคู่แข่งส่งออกข้าวปี 67
ไทยและเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวในปี 2567 ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 อินเดียวจะส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 แต่เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2566 ติดลบถึง 28.1% และรัฐบาลอินเดียสั่งชะลอการส่งออกข้าวหลังจากราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงมาก
สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างสื่อท้องถิ่นในเวียดนามว่า ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวสูงขึ้น 3-8 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้เวียดนามกลับมาทวงแชมป์ตลาดข้าวโลกในแง่ของราคาส่งออกมากที่แพงที่สุด
รายงานซึ่งอ้างการเปิดเผยของสมาคมอาหารเวียดนามระบุว่า ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามขยับขึ้นไปอยู่ที่ 585 ดอลลาร์ตัน ซึ่งแพงกว่าข้าวของไทย 3 ดอลลาร์ต่อตัน และแพงกว่าข้าวของปากีสถาน 10 ตัน ในขณะที่ราคาข้าวหัก 25% อยู่ที่ 555 ดอลลาร์ต่อตัน และข้าวหัก 100% อยู่ที่ 470 ดอลลาร์ต่อตันตามลำดับ
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) เวียดนามกวาดรายได้ 2.08 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกข้าว 3.23 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 36.5% และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 11.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
รวมทั้งทางกระทรวงฯ ยังคาดคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของเวียดนามจะสูงถึง 43 ล้านตันในปี 2567 ซึ่งรองรับการบริโภคภายในประเทศ และตอบสนองความต้องการในการส่งออกข้าวได้มากกว่า 8 ล้านตัน
สื่อท้องถิ่นในอินเดีย มินท์ดอตคอมรายงานว่า ทางการอินเดียอาจมีแผนจำกัดการส่งออกข้าวตามมาอีก หลังจากที่ราคาข้าวในประเทศยังคงพุ่งสูง โดยราคาข้าวขายปลีกต่อกิโลกรัมปรับตัวขึ้นแล้ว 13.10% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าข้าวยังอยู่ระดับสูงที่ 12.7% ทำให้รัฐบาลอาจต้องหาวิธีช่วยประชาชน ท่ามกลางการเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นทั่วประเทศ
รายงานระบุว่า อินเดียอาจจำกัดสัดส่วนการส่งออกข้าวหักในกลุ่มข้าวขาวและข้าวนึ่ง จากเดิมที่ส่งออกในสัดส่วนข้าวหัก 25% และ 15% ตามลำดับ อาจลดลงมาเหลือสัดส่วนเพียง 5% เพื่อให้มีปริมาณข้าวเพียงพอสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศ
เอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตี อินไซท์ รายงานความเห็นบรรดาผู้เชี่ยวชาญในตลาดโภคภัณฑ์ซึ่งคาดการณ์ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในกลุ่มอาหารอาจทำให้อินเดียตัดสินใจคงมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและข้าวสาลีส่วนหนึ่งต่อไป แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. ไปแล้วก็ตาม โดยคาดว่าจำจำกัดการส่งออกข้าวไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือน ต.ค. และจำกัดการส่งออกข้าวสาลีไปจนถึงเดือน มี.ค.2568
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวของผู้ส่งออกสำคัญในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า อินเดียมีปริมาณสูงสุด 4.30 ล้านตัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ลดลงถึง 28.1% แต่ต้องติดตามมาตรการจำกัดการส่งออกของอินเดีย
รองลงมาเป็นไทย 2.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.4% , เวียดนาม 2.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.7% , ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 68.5% และสหรัฐ 0.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 90.5%
การส่งออกข้าวไทยไตรมาส 1 ปี 2567 มีปริมาณ 2.46 ล้านตัน มูลค่า 56,730 ล้านบาท (1,611 ล้านดอลลาร์) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 19.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 49.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 2.06 ล้านตัน มูลค่า 38,067 ล้านบาท (1,125 ล้านตัน)
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าเดือน เม.ย.2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาต้องเร่งส่งมอบข้าวให้ผู้ซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มข้าวขาวที่ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศแถบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น
รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกล่า ไอวอรี่โคสต์ และตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ประกอบกับเริ่มส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซียตามสัญญาส่งมอบแบบรัฐต่อรัฐบ้างแล้ว
ขณะที่ตลาดนําเข้าข้าวหอมมะลิที่สําคัญทั้งในภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐ แคนาดา และเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งตลาดยุโรป ยังนําเข้าต่อเนื่อง เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับช่วงนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทิศทางอ่อนค่าจึงช่วยทําให้ราคาข้าวไทยอยู่ระดับแข่งขันได้ และจูงใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น
สำหรับราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 เม.ย.2567 อยู่ที่ 599 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 579-583 ดอลลาร์ต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 578-582 ดอลลาร์ต่อตัน
ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 602 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียอยู่ที่ 537-541 ดอลลาร์ต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 601-605 ดอลลาร์ต่อตัน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรให้มีน้อยกว่าปกติ โดยในการส่งออกข้าวปี 2566 ขยายตัว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ปี 2567 ในขณะที่การส่งออกรวมส่งออก 3 เดือน แรกของปี 2567 มีปริมาณ 2.4 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไทยจะขยายตัว 0% หรือมีปริมาณ 8.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ การส่งออกรวมของไทยเดือน มี.ค.2567 มูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.9% ทำให้การส่งออกกไตรมาส 1 ปีนี้ มูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.2% จนทำให้หลายฝ่ายกังวลการส่งออกของไทย แต่เมื่อวิเคราะห์การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าไตรมาส 1 ขยายตัว 1.3% ซึ่งถือว่าดี
รวมทั้งเมื่อดูรายสินค้าพบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยยังส่งออกได้ดีทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง คือ
1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักขนส่งน้ำมันโลก
2.ความกังวลต้นทุนภาคการผลิต ประกอบด้วย การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงทรงตัวระดับสูง และอัตราค่าาระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง
3.ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร เช่นผลไม้ออกช้ากว่าฤดูกาลปกติ ยางพาราผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ