ครม.ตีกลับ ‘ของบกลาง’ 6.5 พันล้าน สั่งใช้ 'กองทุนน้ำมัน' รับภาระ 'ดีเซล-LPG'
ครม.อนุมัติ 1.8 พันล้าน อุ้มค่าไฟ ตีกลับแผนใช้งบกลางดูแลดีเซล-LPG นายกฯ สั่งใช้กองทุนน้ำมันดูแล ขยับเพดานไม่เกิน 33 บาท จับตาภูมิรัฐศาสตร์ หากน้ำมันพุ่งขึ้นทยอยขยับจาก 30.94 บาท กฤษฎีกา ห่วงอุดหนุนเกินกำลังกระทบตลาดโลก พีระพันธุ์ ชี้โครงสร้างราคาพลังงานเสร็จปีนี้
ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลยผันผวนต่อเนื่อง โดยไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสัดส่วน 90% ของความต้องการใช้ ในขณะที่ดีเซลถือเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วนในประเทศสูงถึง 70 ล้านลิตรต่อวัน
ที่ผ่านมารัฐบาลใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพยุงราคาดีเซลให้อยู่ระดับไม่กระทบค่าครองชีพประชาชนไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มาเป็นเวลานาน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง รัฐบาลจึงขยายกรอบการตรึงราคาดีเซลและทำให้เดือน เม.ย.2567 กระทรวงพลังงานขึ้นราคาดีเซลรวม 1 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 30.94 บาทต่อลิตร
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ค.2567 เห็นชอบมาตรการดูแลลดค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน 3 มาตรการ ดังนี้
1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย.-31 ก.ค.2567
2.ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2567
3.ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค.-ส.ค.2567 รวม 4 เดือน
เคาะงบกลาง1.8พันล้านอุ้มเฉพาะค่าไฟ
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า มาตรการดูแลประชาชนครั้งนี้ใช้งบกลางดูแลค่าไฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบาง 1,800 ล้านบาท ส่วนการดูแลน้ำมันและ LPG จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ดูแล
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดเดือน เม.ย.2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยข้อเสนอเดิมกระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้งบดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวม 8,300 ล้านบาท
1.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ดีเซล 6,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซ LPG 500 ล้านบาท รวม 6,500 ล้านบาท
2.มาตรการด้านไฟฟ้า 1,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ครม.นายกรัฐมนตรี สั่งการให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันฯ ก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
“พีระพันธุ์”มั่นใจโครงสร้างพลังงานเสร็จปีนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดผันผวนสูงเกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดเพดานดีเซล 33 บาทต่อลิตร เพราะสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตร และอาจปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยจะปรับค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับทั้ง 3 มาตรการที่ ครม.เห็นชอบช่วยเหลือระยะสั้น แต่เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ที่กำลังเร่งดำเนินการ คาดว่ายกร่างกฎหมายใหม่และดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนในอนาคต
“กฤษฏีกา”ชี้อุดหนุนมากกระทบกลไกตลาด
รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันสำเร็จรูปและไฟฟ้า มีแนวโน้มคงตัวระดับสูงจากผลของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยถ้ายังอุดหนุนราคามากเกินไปจะกระทบการเคลื่อนไหวของกลไกตลาด และอาจทำให้ใช้พลังงานไม่คุ้มค่า โดยสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อใช้ทดแทนฟอสซิลด้วย
“ส่วนค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง ครม.อนุมัติงบกลาง 1,800 ล้านบาท เพราะตรงวัตถุประสงค์การใช้เงิน ส่วนการช่วยเหลือราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ครม.เห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการเหมือนหากไม่เพียงพอจึงของบกลาง” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ ครม.กังวลราคาดีเซลที่ใช้วันละ 71 ล้านลิตร โดยการอนุมัติกรอบราคา 33 บาทต่อลิตร เพราะต้องยอมให้ราคาดีเซลขยับได้ถึง 33 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ควักเงินอุดหนุนเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร ถือเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ช่วงขาลงทำให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ต้องปรับขึ้นราคาช่วงนี้ แต่ลดอัตราการชดเชยลงได้
จับตา3ปัจจัยหลักกดดันราคาน้ำมันตลาดโลก
ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะปรับขึ้นหรือลงราคาดีเซลต้องจับตา 3 ปัจจัย คือ
1. อิสราเอลจะยอมรับข้อตกลงการยิงของอียิปต์หรือไม่
2.ซาอุดีอาระเบียจะเล่นแง่ขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดิบให้เอเชียที่รวมถึงไทย
3.อัตราดอกเบี้ย
“ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้ราคารีบาวด์ขึ้น จึงรอดูมติ กบน.ว่าจะปรับขึ้นอย่างไรหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้คาดว่าราคาดีเซลจะขยับถึง 35 บาท หลังกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยเกือบ 5 บาทต่อลิตร แต่ราคาลงแล้วจึงมองว่าราคาน่าจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร” แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 5 พ.ค. 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 109,186 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,546 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งปัจจุบันกู้เงินจากสถาบันทางการเงินไปแล้ว 105,333 ล้านบาท เพื่อชำระให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท
1เดือน“พลังงาน”ขึ้นดีเซลรวม1บาท
นอกจากนี้ หลังจาก นายพีระพันธุ์ รับตำแหน่งเวันที่ 23 ส.ค.2566 ประกาศนโยบายตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ซึ่งต่อมาราคาดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร และเคยสูงสุดที่ 33.94 บาทต่อลิตร โดยมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร เริ่มใช้ระหว่าง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567 ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาทในขณะนั้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 กบน.ประกาศขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลตรึงราคาดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 ส่งผลให้ราคาขยายปลีกดีเซลขยับจาก 29.94 บาทต่อลิตร เป็น 30.44 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 6 เม.ย.2567
รวมทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องดีขึ้น ต่อมาวันที่ 19 เม.ย.2567 กบน.ขึ้นราคาดีเซลอีก 50 สตางค์ต่อลิตร มีผล 20 เม.ย.2567 ส่งผลให้ปัจจุบันอยู่ที่ 30.94 บาทต่อลิตร