สมาคมกุ้งยื่นหนังสือพาณิชย์แก้ปัญหากุ้ง
3 สมาคมกุ้งยื่นหนังสือพาณิชย์ ชง 3 แนวทางแก้ปัญหากุ้ง ชี้ 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกุ้งไทยได้ผลกระทบ ส่งผลให้หล่นจากผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เป็นอันดับ 5 ในปัจจุบัน
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่แข็งไทย และสมาคมอาหารสัตว์ไทย ยื่นหนังสือ ถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านนาย ยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืน หลังได้รับผลกระทบมายาวนาน จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่ามากถึง 1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกลดลง เหลือเพียง 4-5 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออก 48,000 ล้านบาท เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 5-6 ของโลก
ดังนั้น จึงต้องหาทางออก เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทย โดยเสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ส่งเสริมตลาดทั้งในประเทศ เสนอให้เน้นเพิ่มการบริโภค ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย 30-40 ล้านคน บริโภคเพียงคนละ 1 กิโลกรัม จะเพิ่มความต้องการได้มากพอสมควร โดยจัดแคมเปญส่งเสริม “การบริโภคกุ้งไทย” เป็นนจุดขายให้กับ นักท่องเที่ยว และผู้บริโภคชาวไทย รวมถึง ร่วมกับภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงแรม ในการจัดการส่งเสริมการบริโภคกุ้ง
ส่วนตลาดต่างประเทศ มี 4 ตลาดที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ทั้งญี่ปุ่น จีนสหรัฐอเมริกา และอาเซียน โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับ ขยายส่วน แบ่งในตลาดเดิม และเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยขอให้จัดสรรงบประมาณในการจัดบูธเพื่อร่วมงานแสดงสนิ คา้ อาทิ งาน China Fisheries & Seafood Expo 2024 (Qingdao) , World Seafood Shanghai (SIFSE), Fishery & Seafood Expo -Fishex Guangzhou เพื่อให้ผู้ส่งออกละ เกษตรกรนำสินค้าไปจัดแสดง
นอกจากนี้ขอให้เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยขอให้สินค้ากุ้ง ได้แก่ กุ้งสดแช่ เย็นแช่แข็ง และ กุ้งแปรรูป เป็นรายการสินค้าที่ต้องการให้สหภาพยุโรป ยกเว้นอากร ลดภาษีเป็น 0% ทันทีหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งสหภาพยุโรป เคยเป็นตลาดส่งออกหลัก ปริมาณถึง 60,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันส่งออกได้เพียง 1,000 ตันต่อปี ทั้งนี้สหภาพยุโรปนำเข้ากุ้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนามที่มีความตกลงการค้าเสรีและได้รับการยกเว้นภาษีทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขัน
นายเอกพจน์ กล่าวว่า 2. การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะลดภาษี จากอาหารสัตว์ 2 ตัวสำคัญ คือปลาป่น และกากถั่วเหลือง เพื่อให้แข่งขันได้ดีขึ้น โดยกากถั่วเหลืองมีอัตราภาษีการนำเข้าในอัตรา 2% นอกจากนี้ ในปี2567 รัฐบาลเปลี่ยนแปลงประกาศการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากคราวละ 3 ปี เป็น 1 ปี ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนและขาดความต่อเนื่องในการนำเข้า จึงขอเสนอให้ปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองและปลาป่นเป็นศูนย์ รวมถึงอนุญาตให้นำเข้าคราวละ 3 ปีเช่นเดิม และ3. การแก้ปัญหาโรคกุ้ง ที่ผู้เลี้ยงยังเจออยู่ โดยอยากให้จัดงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้
“ทั้ง3 เรื่องนี้ ถือเป็นปัญหาหลักๆ ของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาทนี้ เกิดเม็ดเงินกระจายไปทั่วประเทศ เกี่ยวข้องกับคนในอุตสาหกรรมทั้งหมดกว่า 2 ล้านคน จึงอยากขอการสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เชื่อว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทย จะสะท้อนความสามารถทางการแข่งขันของภาคเกษตรไทยอย่างแท้จริง “นายเอกพจน์ กล่าว