เดือด! 'อิสราเอล - อิหร่าน' เปิดศึก หนุนราคาน้ำมันพุ่ง
ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางร้อนระอุ หลัง "อิสราเอล - อิหร่าน" เผชิญหน้าโจมตีกันโดยตรง กลายเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อราคาน้ำมัน ส่วนทิศทางในไตรมาส 2 นี้จะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ ต้องติดตาม
เปลวไฟสงคราม ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังร้อนระอุในหลายพื้นที่ ทั้งสงครามในตะวันออกกลางระหว่าง อิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ตอนนี้อาจจะกำลังลุกลาม กลายเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกันระหว่าง อิสราเอล กับ อิหร่าน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อราคาน้ำมันในปีนี้
ตอนนี้ได้เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีแล้ว ช่วงแรกของไตรมาส 2 ราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ตลาดลอนดอน ตอนต้นเดือน เม.ย. 67 ขึ้นมาแตะจุดสูงสุดในรอบ 5 เดือน ทะลุระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปเป็นที่เรียบร้อย ฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 81.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะนี้ตลาดกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยรายงานของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เดือนมกราคม ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลก ในปี 2567 น่าจะเติบโต +3.1% แต่ถ้าเจาะลึกลงไปดูจะเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐ และจีน อาการยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง ยังชะลอตัวต่อเนื่อง
โดย IMF คาดว่า เศรษฐกิจพี่ใหญ่ของโลกอย่าง "สหรัฐ" ปีนี้ จะเติบโต +2.1% เทียบกับปีก่อนหน้าคือปี 2566 ที่เติบโต +2.5% ส่วนพญามังกรจีนปีนี้ GDP จีนน่าจะขยายตัว +4.6% ถือว่าชะลอตัวลงจากปีก่อนที่เติบโต +5.2% ซึ่งเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปัญหายังลุกลามไม่หยุด
ส่วนอีกปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกเฝ้าติดตาม เพราะว่าจะมีผลอย่างมากเลยกับตลาดเงิน ตลาดทุนโลก รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันด้วย นั่นก็คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน FOMC ของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ และถ้าลดปีนี้จะลดทั้งหมดกี่ครั้ง
ปีนี้การประชุม Fed ผ่านไปแล้ว 3 ครั้ง จากทั้งหมด 8 ครั้ง สรุปแล้ว Fed ยังเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 5.25% - 5.50% และส่งสัญญาณว่ายังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจาก เงินเฟ้อ ปัจจุบันยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2%
เงินเฟ้อสหรัฐในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 3.5% ขณะที่ Reuters Poll คาดการณ์ Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ ถือว่าเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่า Fed น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งแน่นอนว่าหากสุดท้ายแล้ว Fed ลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้น้ำมันได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีอีกจุดที่ยังเดือดกับเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นระยะ นั่นก็คือ ทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ขนส่งน้ำมัน ระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป โดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ซึ่งก็มีอิหร่านหนุนหลัง ยังโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดง ทำให้เรือส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงเส้นทาง ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ต้องไปอ้อมแหลม Good Hope ใต้ทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งก็ต้องเสียเวลาไปอีกหลายวัน ต้นทุนค่าขนส่งค่าประกันภัยก็เพิ่มขึ้น ส่วนการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็ดำเนินมากว่า 2 ปีแล้ว และดูแล้วก็ยังไม่น่าจะยุติลงง่ายๆ โดยช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวว่ายูเครนใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงกลั่นรัสเซียหลายแห่งต้องปิดซ่อมแซมชั่วคราว
S&P Global Platts ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ คาดการณ์ว่า การโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียจะกระทบกำลังการกลั่นน้ำมันของรัสเซียประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 16% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รัสเซียลดการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะดีเซลลง โดยในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซียลดลง 9% เทียบกับเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 และรัฐบาลรัสเซียมีแผนลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 2 ปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากช่วงเดือน ก.พ. ที่มีการผลิตอยู่ทั้งหมด 9.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการกลั่นที่ลดลงนั่นเอง ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 2 นี้จะเป็นอย่างไรนั้น ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาส 2 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 80 - 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ บวกกับอุปทานที่ตึงตัวจากนโยบายควบคุมการผลิตของ OPEC+ ซึ่งสมาชิกกลุ่ม OPEC+ รวม 8 ประเทศ ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต คาซัคสถาน แอลจีเรีย และโอมาน ตัดสินใจขยายเวลามาตรการลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ (Voluntary Cut) รวม 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 2/67
ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ตลาดน้ำมันโลก จะอยู่ในสภาวะที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน (Deficit) 0.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ตลาดอยู่ในภาวะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ (Surplus) มาติดต่อกัน 2 ปีแล้ว นอกจากนี้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจยังต้องติดตามว่า เศรษฐกิจโลก ในช่วงไตรมาส 2 นี้ จะฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งล่าสุดเริ่มมีสัญญาณว่า จากตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐและจีนมีแนวโน้มดีขึ้น และถึงแม้ว่าปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึง รัสเซีย - ยูเครน อาจทวีความรุนแรงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันอยู่ เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นทั่วโลกนันเอง ซึ่งในช่วงเดือน เม.ย. จะเป็นช่วงที่มีการปิดมากที่สุดรวมกันราวๆ 8.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกดดัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถทะยานขึ้นรุนแรงได้มากนัก