‘พลังงาน’ สำรองไฟ ‘มาบตาพุด’ หวั่นกระทบการผลิตอุตสาหกรรม
“พลังงาน-อุตสาหกรรม” ตั้งวอร์รูมติดตามนิคมมาบตาพุด หลังเพลิงไหม้ถังเก็บสารไพรโรไลสิส กฟผ.สำรองเชื้อเพลิงผลิตไฟ เพิ่มกำลังผลิตไฟให้ประเทศ กนอ.ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 ปิดร่องน้ำท่าเรืออุตสาหกรรม ประเมิน 10 พ.ค.กลับมาเปิดทำการปกติ คาดไม่มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบ
บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเครือ SCG ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลา 10.45 น. ซึ่งเป็นถังเก็บสารที่ใช้ในการผลิตอะโรเมติก (กลุ่มเส้นใยประดิษฐ์) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสังเคราะห์สารประกอบอื่น เช่น การผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สารตั้งต้นในการผลิตสีย้อม
ทั้งนี้ แม้จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว แต่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 และกระทรวงพลังงานได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการเช่นกัน
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้รับรายงานว่าบริษัทฯ ได้ระดมทีมควบคุมสถานการณ์ทันทีตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงพลังงานประสานกรมธุรกิจพลังงานและพลังงานจังหวัดระยองร่วมเฝ้าระวัง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้เตรียมรับมืออย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามแผนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่า เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน นอกจากนี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน สั่งการให้ตั้ง War room ขึ้น โดยให้กรมธุรกิจพลังงานและพลังงานจังหวัดระยองประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมการทำงานของ LNG Terminal ในมาบตาพุดให้ดำเนินการได้ตามปกติ และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมเชื้อเพลิงสำรองกรณีฉุกเฉิน
กฟผ.สำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน
นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้ารองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ได้สั่งเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก โรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัยด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติตะวันออก เพื่อเตรียมการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซล และเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ
พร้อมทั้งประสานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตะวันออกทั้งหมดให้เตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิง
"ขณะนี้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทดแทนก๊าซธรรมชาติ จึงไม่กระทบการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า กฟผ.พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของทุกภาคส่วน” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรือมาบตาพุด
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สั่งการให้ กนอ.เร่งตรวจสอบทุกระบบ และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการเผชิญสถานการณ์และบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน โดยมีนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ.บัญชาการประจำวอร์รูม ประจำวอร์รูม เพื่อประสานเหตุการณ์และระงับเหตุ
ส่วนการแก้ไขควบคุมเพลิงมีการระดมรถดับเพลิง เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีทีมงาน EMCC มาบตาพุด และเจ้าหน้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดนำรถตรวจการณ์ EMCC ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณเหนือลมและท้ายลม
รวมทั้งตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัท SC เพื่อใช้เรือในการอพยพบุคคลากรในพื้นที่
นอกจากนี้ มีรายงานทางข้อมูลเทคนิคทราบว่าบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการท่าเทียบเรือและคลังเก็บสินค้าเหลว (สารปิโตรเคมี, คลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์)
รวมทั้งระหว่างการเดินระบบปกติได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) หมายเลขถัง TK 1801 ขนาดบรรจุ 9,000 ลบ.ม. การเผชิญเหตุบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน และ กนอ.ได้จัดส่งรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณรอบ พร้อมทั้งแจ้งปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ประเมินให้โรงงานกลับมาเดินเครื่อง
นายวีริศ กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 9 พ.ค.2567 ได้รับรายงานว่าควบคุมเพลิงให้สงบ โดยจังหวัดระยองยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 และยังฉีดโฟมเพื่อหล่อเย็นบริเวณถังเก็บสารเคมี เพื่อรักษาอุณภูมิป้องกันการประทุขึ้นอีกครั้ง โดยมีโดรนบินตรวจวัดอุณหภูมิเหนือถังจนกว่าอุณหภูมิจะต่ำกว่าจุดวาบไฟ (42-57 องศาเซลเซียส)
สำหรับการจัดการน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจะไม่มีการปล่อยระบายออกสู่ภายนอก โดย กนอ.กำชับให้บริษัท ดำเนินการรวบรวมน้ำทิ้งและส่งกำจัดตามหลักวิชาการต่อไป
นอกจากนี้ วันที่ 10 พ.ค.2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะลงพื้นที่ ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อนำข้อมูลรายงานต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ส่วนประเด็นโรงงานในนิคมมาบตาพุดจะต้องหยุด Operate ด้วยหรือไม่ นายวีริศ ระบุว่า วันที่ 10 พ.ค.2567 น่าจะทำงานได้ แต่ขอประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง