'รับเหมา' คึกคัก รับงานรัฐครึ่งปีหลัง กทพ.ประเดิมด่วน 'จตุโชติ - ลำลูกกา'

'รับเหมา' คึกคัก รับงานรัฐครึ่งปีหลัง กทพ.ประเดิมด่วน 'จตุโชติ - ลำลูกกา'

จับตาครึ่งปีหลัง 2567 ธุรกิจรับเหมาเตรียมคึกคัก หลังงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจ่อเปิดประกวดราคาอย่างต่อเนื่อง “ซิโนไทย” คาดการแข่งขันด้านราคาอาจรุนแรง ล่าสุดโดดเข้าร่วมชิงทางด่วนสายใหม่ หลังการทางพิเศษฯ ประเดิมเส้นทาง “จตุโชติ - ลำลูกกา”

KEY

POINTS

  • จับตาครึ่งปีหลัง 2567 ธุรกิจรับเหมาเตรียมคึกคัก หลังงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจ่อเปิดประกวดราคาอย่างต่อเนื่อง
  • “ซิโนไทย” คาดการแข่งขันด้านราคาอาจรุนแรง เริ่มเห็นสัญญาณผู้รับเหมาจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ล่าสุดโดดเข้าร่วมชิงทางด่วนสายใหม่
  • การทางพิเศษฯ ประเดิมเปิดประกวดราคาทางด่วนสาย “จตุโชติ - ลำลูกกา” วงเงินลงทุนกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท บิ๊กรับเหมา 4 รายยื่นข้อเสนอ คาดประกาศผลผู้ชนะ มิ.ย.นี้ 

กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ต้องยอมรับว่าในช่วงครึ่งปีแรกโครงการลงทุนภาครัฐยังคงเงียบเหงา โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม ตลอดระยะเวลา 5 เดือนแรกของปี 2567 ยังไม่มีการประกวดราคาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ประกอบกับผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หลายฝ่ายต้องประเมินดีมานด์การลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของกระทรวงคมนาคม โดยระบุว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยตามที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 ให้กับกระทรวงคมนาคม จำนวน 228,803.59 ล้านบาท ปัจจุบันพบว่า กระทรวงคมนาคมมีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ภาพรวมอยู่ที่ 26.42% จากแผนที่วางไว้ 27.53% และรายจ่ายงบลงทุนสูงกว่าเป้าหมายรัฐบาล

ขณะเดียวกันมีผลการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 23.01% (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. 2567) คาดการณ์ว่าในระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เหลือ 5 เดือน (พ.ค. - ก.ย. 2567) ทุกหน่วยงานจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและกระทรวงฯ ตั้งไว้

นายเศรณี ชาญวีรกูล ที่ปรึกษา บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯ ประเมินว่าจะเป็นช่วงฟื้นตัวของธุรกิจรับเหมา โดยจะมีการแข่งขันประกวดราคาอย่างคึกคัก โดยเฉพาะงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยเปิดประกวดราคาอย่างต่อเนื่อง หลังจากอัดอั้นการลงทุนในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ความคึกคักในวงการรับเหมานี้ บริษัทฯ ยังประเมินด้วยว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด เพราะนอกจากผู้รับเหมาไทยที่ต้องการประมูลงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเริ่มเห็นสัญญาณผู้รับเหมาจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยบริษัทฯ ยืนยันจะเข้าร่วมประกวดราคางานภาครัฐในทุกโครงการที่มีความถนัด อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และงานก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน)

โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้ยื่นประมูลโครงการโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา วงเงินราว 1.87 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะมีงานใหม่ในมือรวม 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ในระดับเป้าหมายของบริษัทฯ ตั้งไว้ปีละ 1 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา นับเป็นว่าเรือธงโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากเป็นโครงการแรกที่ประเดิมเปิดประกวดราคาในปี 2567 ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ปรากฏว่ามีบริษัทยื่นข้อเสนอ 4 ราย ได้แก่

1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK

3. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE

4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ประมาณเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเริ่มกระบวนการเจรจาและลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูล และกำหนดเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 - ต้นปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปีแล้วเสร็จ ส่งผลให้ กทพ.มีเป้าหมายเปิดให้บริการทางด่วนสายนี้ในปลายปี 2570

สำหรับโครงการทางด่วนสายนี้ กทพ.จะใช้เงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของงานโยธา 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะดำเนินการออกพันธบัตรเพิ่มเติม 5,960 ล้านบาท ขณะที่ค่าเวนคืนที่ดินจะขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล โดยประเมินพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน มีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง

สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัชสายนี้ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทางพิเศษในปัจจุบันรับความเร็วได้ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งยังรองรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่ง กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท โครงการมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1

ส่วนตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์ ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2 และตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา