วัดฝีมือ 'ธรรมศักดิ์' ซีอีโอ SCG เผชิญวิกฤติมาบตาพุด-คดีคว่ำบาตรอิหร่าน

วัดฝีมือ 'ธรรมศักดิ์' ซีอีโอ SCG เผชิญวิกฤติมาบตาพุด-คดีคว่ำบาตรอิหร่าน

วัดฝีมือ 'ธรรมศักดิ์' ซีอีโอ SCG เผชิญวิกฤติมาบตาพุด-คดีคว่ำบาตรอิหร่าน หลังรับตำแหน่งมีผล 1 ม.ค. 2567 กว่า 4 เดือน ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ 2 เรื่องที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กร

ถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของ นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG หลังเข้ามาดำรงตำแหน่งวันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่นอกจากจะต้องบริหารงานภายในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตตามเทรนด์โลกแล้ว กลับต้องเผชิญกับวิกฤติใหญ่ 2 วิกฤติที่กระทบกับทั้งความเชื่อมั่นและมูลค่ารวมถึงความสูญเสียชีวิตด้วย คือ 

1. กรณีรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน จากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561 โดยถูกสหรัฐสั่งจ่ายค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์ ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน 

2. กรณี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเครือ SCG ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลา 10.45 น. ซึ่งเป็นถังเก็บสารที่ใช้ในการผลิตอะโรเมติก (กลุ่มเส้นใยประดิษฐ์) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสังเคราะห์สารประกอบอื่น เช่น การผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สารตั้งต้นในการผลิตสีย้อม โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวน 4 ราย อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ความเสี่ยงธุรกิจ 110 ปี สร้างบทเรียน SCG

ตลอดระยะเวลา 110 ปี ที่ผ่านมา SCG ผ่านวิกฤติหลายครั้งที่กระทบกับธุรกิจ ซึ่งขนาดของวิกฤติแตกต่างตามสถานการณ์ ไล่ตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โรงงานปูนซิเมนต์บางซื่อถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเมื่อปี 2487 

ความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงใน 110 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างบทเรียนให้กับเอสซีจี โดยตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในรอบ 25 ปี คือ 

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 นำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหลือ 3 กลุ่ม คือ 1.ซีเมนส์ 2. เคมีภัณฑ์ 3. กระดาษและบรรจุภัณฑ์ 

ทำให้เอสซีจีหันมามองเรื่องการจัดการความเสี่ยง จากเดิมที่มองโอกาสมากจนไม่คิดถึงเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เช่น ความเสี่ยงจากโครงสร้างทางการเงินที่กู้เงินทั้งหมด ความเสี่ยงจากการเข้าไปทำธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งหลักการทำธุรกิจสามารถมองโอกาสจากการทำธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยได้ แต่ถ้าองค์กรทำมากไปจะมีปัญหาพัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ทันกับภารกิจใหม่

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2550-2551 เอสซีจีได้รับผลกระทบไม่มากถึงแม้ว่าวิกฤตินี้จะส่งผลถึงค่าเงินบาท เพราะการปรับโครงสร้างด้วยการตัดธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญออก ถือว่าเตรียมตัวรับมือมาดี และยังไม่ใช่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเหมือนผลกระทบมาบตาพุดปี 2552 ที่การลงทุนหลักในธุรกิจปิโตรเคมีต้องชะลอตัวถึง 1 ปี

วิกฤติมาบตาพุด ปี 2553 เป็นความเสี่ยงจากข้อกฎหมายและประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเป็นเรื่องของการยอมรับจากชุมชนและสังคม ซึ่งวิกฤติมาบตาพุดเป็นตัวจุดประกายให้เอสซีจีรู้จักบริหารความเสี่ยง รู้จักที่จะเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสังคมและชุมชนเป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ และนำมาสู่การเปลี่นแปลงอย่างหนึ่งของเอสซีจี

วิกฤติโควิด-19 ปี 2563-2565 ถือได้ว่ามีความรุนแรงและแตกต่างกว่าทุกวิกฤติที่ เอสซีจี เคยเจอ ซึ่งกรณีที่ใกล้เคียงสุดเป็นการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปญที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลกทั้ประเทศเล็กและใหญ่

ถึงแม้ว่าเอสซีจีจะไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น สายการบิน โรงแรม หรือบันเทิง แต่ปรับการบริหารให้ตัดสินใจให้เร็วและทำงานเร็วขึ้น 4 เท่า เพราะเป็นภาวะวิกฤติใหม่ที่ต้องรีบตัดสินใจแก้ปัญหา

ชี้ ไม่กระทบผลการดำเนินงานในปี 2567

นายธรรมศักดิ์ ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ใน 4 ข้อ ได้แก่

1. SCG Plastics ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCG (ปัจจุบันอยู่ระหว่างชำระบัญชี) และ SCG Plastics ได้ขาย PE ที่ผลิตจากบริษัทร่วมทุนนี้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยได้ใช้หลายสกุลเงินในการค้าขายตามความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจตามปกติของอุตสาหกรรมนี้ และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน

2. ต่อมาในเดือน ก.พ. 2556 SCG Plastics ได้หยุดการขาย PE ที่ผลิตในอิหร่านหลังจากสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ตั้งแต่ปี 2561 ได้ยุติการขาย PE จากบริษัทร่วมทุนอย่างถาวร

3. ต่อมาสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (OFAC) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของ SCG Plastics ที่ค้าขายช่วงเดือน เม.ย. 2560 - พ.ย. 2561 ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ ซึ่ง SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ OFAC เห็น ว่ามีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แม้การขายสินค้าดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคว่ำบาตร แต่มีการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการขายสินค้าที่ผลิตจากอิหร่านในช่วงดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลสหรัฐมีส่วนร่วมในการชำระเงินด้วย ส่วนการค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นไม่ได้ละเมิด มาตรการดังกล่าว

4. OFAC เห็นว่า SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับ OFAC ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ รวมถึงได้ออก นโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต OFAC จึงได้เสนอให้ SCG Plastics ทำ Settlement Agreement โดยให้ SCG Plastics จ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้ OFAC ยุติการพิจารณาข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อ ผลการดำเนินงานในปี 2567 ของเอสซีจีเนื่องจากได้ตั้งสำรองในงบการเงินสิ้นปี 2566 เรียบร้อยแล้ว

"ธรรมศักดิ์"เตรียมพร้อมทุกการเซอร์ไพรส์

นายธรรมศักดิ์ กล่าวภายหลังรับตำแหน่งว่า จากสถานการณ์จีโอโพลิติก และวิกฤติต่างๆ ส่งผลให้ต้องอยู่ในโลกที่ทีความผันผวนสูง โดยจะเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีจะเกิดเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ต่างๆ อาทิ โควิด เทรดวอร์ สงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ เอสซีจีได้เตรียมใจว่าคงต้องเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกแน่นอน

"เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ได้ จึงต้องเตรียมพร้อมและอยู่กับมันให้ได้ เอสซีจีมองทิศทางดำเนินงานในช่วง 3-5 ปี หากหวังจะทำธุรกิจให้ได้เพียงแค่กำไรนั้นง่ายมากโดยไม่ต้องปรับอะไรมากและอยู่กับธุรกิจที่สร้างคาร์บอนสูงต่อไป แต่หากจะมองไปในระดับ 40-50 ปี หรือ 100 ปี ต้องมองอีกแบบและต้องเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่กับการสร้างผลกำไร จึงต้องมุ่งพัฒนาสินค้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด"

แนวคิด "Passion for Inclusive Green Growth"

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องปรับตัว สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด Passion for Inclusive Green Growth ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่

1.องค์กรคล่องตัว ด้านธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูงเพื่อขยายขีดความสามารถของแต่ละธุรกิจตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคใหม่และความผันผวนของสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

2. เร่งพัฒนานวัตกรรม โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดโลก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสังคม Net Zero เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งเป้ารายได้จากนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice 67% จากยอดขายทั้งหมดปี 2573 จากยอดขายปี 2566 ที่ 54% 

องค์กรคล่องตัว ลุยนวัตกรรม สู่อนาคตและไม่ทิ้งใคร

3. องค์กรแห่งอนาคตสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เปิดโอกาสให้พนักงานปล่อยแสงสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านโครงการสตาร์ทอัพในเอสซีจี อาทิ พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ Prompt Plus ยกระดับการบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยกว่า 10,000 รายในเครือข่ายเอสซีจี การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในโครงการ ZERO TO ONE by SCG สร้างโอกาสให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ ปั้นธุรกิจศักยภาพสูงมากมาย เช่น Dezpax.com แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย

4. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยกันผลักดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ 50,000 คนในปี 2573 และร่วมกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ ตั้งเป้าหมายการปลูกป่า 1.5 ล้านร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี