อนาคตทุเรียนไทยเสี่ยงพังเจอ 4 ปัจจัย จับตาเวียดนามแย่งส่วนแบ่งตลาดจีน

อนาคตทุเรียนไทยเสี่ยงพังเจอ 4  ปัจจัย จับตาเวียดนามแย่งส่วนแบ่งตลาดจีน

ทุเรียนไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง “ผลผลิตลด เวียดนามส่งออกเพิ่ม ต้นทุนสูง ส่งออกแค่ตลาดจีน” เผยเวียดนามส่งออกทุเรียนไตรมาสแรกพุ่ง 105 % ขณะที่ไทยส่งออกวูบ คาดทั้งปีไทยส่งออก 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน ชูแก้ภัยแล้งวาระแห่งชาติ เน้นคุณภาพแข่งเวียดนาม พร้อมหาตลาดใหม่รองรับ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยผลวิเคราะห์  ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า ว่า   หลายปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท “แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง” แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว มูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค่าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

จากการวิเคราะห์.ดัชนี “DURI” หรือ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และ 5 ปี มีความเสี่ยงสูง  พบว่า ปี 2567 อยู่ที่ 57 ซึ่งเป็นระดับที่ “มีความเสี่ยงสูง” เพราะเกิน 50 และค่าดัชนี DURI ใน 5 ปีข้างหน้ายังมีค่าเกิน 50 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงจาก  4 ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วย การประสบภัยแล้งของเกษตรกร ตามด้วย การส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นและผลผลิตไม่กระจายส่งออกใหญ่แค่ตลาดจีน

อนาคตทุเรียนไทยเสี่ยงพังเจอ 4  ปัจจัย จับตาเวียดนามแย่งส่วนแบ่งตลาดจีน

ทั้งนี้ในช่วง 12 ปี ผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่ม 180%ระหว่างปี 2556 - 2566 ทั้งพื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยผลผลิตทุเรียนเพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 180% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 1,500 % ในขณะที่พื้นที่ปลูกทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 80%

อย่างไรก็ตามภัยแล้งจะทำผลผลิตทุเรียนลดลง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า หากไม่มีการแก้ไขหรือจัดการภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า  ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% (จากสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วและผลผลิตใหม่) ผลผลิตจะหายไป 6.4 แสนตัน สำหรับปี 2567 ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% ผลผลิตลดลง 5.4 แสนตัน

นายอัทธ์  กล่าวว่า  ในด้านการส่งออก ตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ1 ของไทย แต่กำลังเผชิญความท้าทายจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่จีนเปิดให้ทุเรียนเวียดนามนำเข้าจีนได้  ซึ่งในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% ปี 2566 เวียดนามมีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน (ปี 2557) มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ (6.8 แสนไร่)

พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนาม 90 % ปลูกในจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด ตามด้วยจังหวัดเตียนซาง (Tien Giang) และเลิมด่ง (Lam Dong) เป็นต้น

 

โดยปี 2567 เวียดนามส่งออกไปจีนเพิ่ม 30%  ไตรมาสที่ 1  เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ในขณะที่ไทยส่งออกในช่วงเวลาเดียวกัน 17,900 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน ส่วนไทยส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน

สาเหตุหลักก็คือ ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า  ซึ่งปี 2566 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาทต่อกก.ในปี 2567 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อกก.   

ในอนาคต “ล้งทุเรียนไทย” จะปิดตัวเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2565 ถึง 2567 มีล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่าล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่เกิน 5 ราย

คาดว่า ปี 2567 เงินธุรกิจทุเรียนไทยจะมีเงินสะพัด   9.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง จำนวน 280 แสนล้านบาท “นายอัทธ์ กล่าว

นายอัทธ์ กล่าวว่า  สำหรับทางรอดของทุเรียนไทยใน 5 ข้างหน้าคือ ให้ “ภัยแล้ง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งการจัดการหาและบริหารน้ำให้กับเกษตรกรทุเรียนและสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้มีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปีการผลิต ไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิต รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น

รวมทั้งเน้นคุณภาพ โดยทุเรียนเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนในอนาคต คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตใกล้เคียงกับทุเรียนไทย ทุเรียนต้องหันมาเน้นคุณภาพและมาตรฐานเข้าสู้

ขณะเดียวกันนอกจากพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักแล้ว ต้องเร่งเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดอเมริกา อินเดีย ยุโรป ประเทศในเอเชียอื่น ๆ รวมถึงอาเซียน