”เศรษฐา“ พานักธุรกิจไทย โรดโชว์ 3 ประเทศ ฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น ดึงลงทุน

”เศรษฐา“ พานักธุรกิจไทย โรดโชว์ 3 ประเทศ ฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น ดึงลงทุน

นายกรัฐมนตรีออกเดินทางนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand - France Business Forum พบหารือประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินทางเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และร่วมปาฐกถาในการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 23.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชม.) เดินทางถึงกรุงปารีส วันพรุ่งนี้ (16 พฤษภาคม 2567) เวลา 07.10 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชม.) 

โดยการเดินทางในครั้งนี้ เป็นการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงปารีส การเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองมิลาน และกรุงโรม และการเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในส่วนของการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นการเยือนเพื่อนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand - France Business Forum ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นการจัดงานส่งเสริมการค้าระหว่างกันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อติดตามผลความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ soft power ตลอดจนร่วมกันผลักดันประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตามที่ระบุไว้ในแผนการ (Roadmap) การดำเนินความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2022 - 2024

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ พบหารือกับนางจอร์จา เมโลนี (H.E. Mrs. Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลี ซึ่งในปี 2567 จะครบรอบ 156 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน พร้อมขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทยและอิตาลีมีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชกรรม และกลาโหม โดยนายกรัฐมนตรีจะผลักดันประเด็นสำคัญ เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในเขตเชงเกน และการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) รวมถึงประเด็นการรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลไปทำงานในอิตาลีในอนาคต โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับนาย Attilio Fontana ผู้ว่าการแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งเป็นแคว้นที่สำคัญที่สุดด้านเศรษฐกิจของอิตาลีด้วย

นอกจากนี้ การเยือนในครั้งนี้จะเป็นโอกาสพบหารือภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลกของอิตาลี และ นาย Carlo Capasa ประธาน the National Chamber of Italian Fashion โดยจะเชิญชวนภาคเอกชนอิตาลีให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแฟชั่นและ Soft Power การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ พลังงาน การเงินและพันธบัตร Sustainability Linked Bonds รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์

โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางต่อเนื่องไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ซึ่งหัวข้อหลักในปีนี้ คือ Asian Leadership in an Uncertain World พร้อมจะเสนอให้เอเชียมีความร่วมมือสำคัญ ได้แก่

1) การเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสธุรกิจ

2) เสริมสร้างความยั่งยืนโดยเน้นเศรษฐกิจและพลังงานสีเขียว

3) การร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

และ 4) การปรับกระบวนทัศน์ของระบบพหุพาคีใหม่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของเอเชีย และก้าวข้ามสถานการณ์โลกที่ผันผวน ท้าทาย