“เศรษฐกิจไทย"ต้องพัฒนาเชิงโครงสร้าง รับมือ“ไอเอ็มเอฟ”ชี้จีดีพีโลกโตต่ำ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผย รายงาน “Steady but Slow: Divergence WORLD ECONOMIC OUTLOOK” มั่นคงแต่เติบโตช้า : ความไม่สอดคล้องของเศรษฐกิจโลก เผยแพร่เมื่อ 3 พ.ค. 2567
สาระสำคัญระบุว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 -2568 มีทิศทางเติบโตเพียง 3.2% เป็นผลจากปัจจัยลบทั้งภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ต่อเนื่องไปสู่ความเครียดทางการเงินจากภาวะเงินเฟ้อ ยังมีปัจจัยการฟื้นตัวของจีนถดถอยปัจจัยการสับสนทางการคลัง และการกัดเซาะจากความไม่ไว้วางใจภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นทางการคลังเพื่อผลทางการเลือกตั้ง (กรณีสหรัฐ) ,การหายไปของอุปทานสินค้าบางรายการที่สำคํญ และการกระตุ้นผลิตภาพด้วย AI รวมถึงการขับเคลื่อนหรือการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง
ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแรง ซึ่งเป็นผลจากจีดีพีในเศรษฐกิจสำคัญๆของโลก มีอัตราขยายตัวที่ต่ำมาก ทั้งสหรัฐที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% สหภาพยุโรป (อียู) 0.8% และญี่ปุ่น ที่0.9% แม้แต่จีน ก็มีอัตราขยายตัวที่ต่ำลงไปอีก จากปี2566 ที่ขยายตัวได้ 5.2% แต่ปีนี้ิอยู่ที่ 4.6% และจะลดลงไปอีกในปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 4.1% ส่วนที่ยังร้อนแรงอยู่คืออินเดียที่คาดว่าปี 2567 จะขยายตัวที่ 6.8% และปีหน้าที่ 6.5%
“ทิศทางเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำอย่างนี้ไปอีก 5 ปี เพราะยังไม่เห็นปัจจัยการฟื้นตัวที่ชัดเจนหากสถานการณ์โลกยังเป็นอยู่อย่างไร ทำให้การปรับแผนเชิงนโยบาย ทั้งการเงิน การคลัง จะต้องมุ่งไปสู่ผลในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้การชะลอตัวครั้งนี้นำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว”รายงานระบุ
มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ซึ่งประเทศไทยมีสถิติจีดีพีเติบโตไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยโลก จึงอนุมานได้ว่าเศรษฐกิจไทยจากนี้มีแนวโน้มเติบโตไม่สูงหรืออาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
ดังนั้น การบริหารจัดการเชิงนโยบายเพื่อให้การพัฒนาประเทศยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ต้องทำในเชิงโครงสร้างคือหวังผลเพื่อการปรับตัวรับมือทั้งความเสี่ยงในปัจจุบันและในอนาคต
“ยังไม่เห็นข่าวดีทางเศรษฐกิจในตอนนี้ อย่างปลายปีสหรัฐจะเลือกตั้งหากได้ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้กลับมาดำรงตำแหน่ง ก็บอกได้ว่าความเสียหายจากสงครามการค้าเมื่อ 4 ปีก่อนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซ้ำเติมด้วยภัยภูมิรัฐศาสตร์ อย่างอิสราเอล กับอิหร่าน ตอนนี้เหมือนจะแตะเบรกไว้แต่ก็ไว้ในอะไรไม่ได้”
สำหรับประเทศไทย มองว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเรื่องสำคัญ 2 เรื่องคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท สองนโยบายนี้มีจุดที่ต้องแก้ไขและปรับมุมมองใหม่เริ่มจากค่าแรงขั้นต่ำในฐานะผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่การปรับขึ้นในอัตรากระชากตัว ที่ต่ำสุดเพิ่มขึ้น 8.6% และสูงสุดที่ 20.6% เช่นนี้ เป็นการเพิ่มภาระธุรกิจโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเพราะไม่สามารถตอบโจทย์ด้านประผลิตภาพ หรือ Productivity ในทางธุรกิจได้ แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปแล้ว
“เรื่องแรงงานผมอยากให้ใช้ระบบ pay by skill คือเเรงงานเพิ่มทักษะแล้วนำทักษะมากเพิ่มค่าแรงงาน ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ แรงงานก็อยู่ได้แบบมีส่วนต่างค่าแรงกับค่าใช้จ่ายจริงที่สามารถนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายหรือลงทุนด้านอื่นๆแทนที่จะเผชิญสถานการณ์ที่ค่าแรงขึ้นและราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นตามซึ่งเท่ากับว่าไม่มีใครได้อะไรเลย”
สำหรับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยผ่านโครงการดิจิทัลหมื่นบาท มองว่า เป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์น้อยหากใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบาย ว่าด้วยนำ้ตก 7 ชั้น คือ การเติมเงินหากเติมบนชั้นที่ 1 คือการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ การลงทุนต่างๆ เงินจะไหลลงไปแต่ละชั้น เช่น ไปสู่ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาซื้ออุปกรณ์และจ้างงาน แรงงานนำเงินไปใช้จ่าย และการลงทุนนั้นก็ยังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีก การไหลของเงินจากชั้นที่ 1 สู่ชั้นที่ 7 จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด แต่หากเติมเงินไปที่ชั้นที่ 7 เลย อย่างโครงการดิจิทัลหมื่นบาท ก็จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่มากเท่าที่ควร แต่ในเชิงระยะเวลาการเห็นผลย่อมแตกต่างกัน ส่วนในเชิงผลตอบแทนระยะยาวการเติมเงินอย่างมีหลักการจะให้ประโยชน์ที่มากกว่า
“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังผลิตสินค้าที่ตกยุค เช่น รถกระบะขนาด 1 ตันที่ตลาดหลายแห่งกำลังจะเรียกร้องรถยนต์ไฟฟ้าแทน ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สินค้าไฮเทคโนโลยี ไทยก็ยังไม่มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งผิดกับมาเลเซีย ที่ยึดเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดเป็นหลักในการวางแผนพัฒนาคนและดึงดูดการลงทุนแล้ว”
ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องมุ่งพัฒนาคนให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะตอบรับกับหลักการค่าแรงงานแบบใหม่คือจ่ายตามทักษะที่มี แทนค่าแรงงานขั้นต่ำ สองส่วนนี้เกี่ยวเนื่องไปสู่การขับเคลื่อนการลงทุนซึ่งเงิน 5 แสนล้านบาทในโครงการดิจิทัลหมื่นบาทควรพิจารณาใช้เพื่อการลงทุนเชิงโครงสร้างแทนการแจกแบบได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนผ่านจีดีพีในช่วงปีนี้ถึงปีหน้า ดังนั้น การพัฒนาประเทศจากนี้ ไม่ควรมองในระยะสั้น เช่น การผลิตสินค้าเดิมและส่งออกไปมากๆ แต่ต้องเร่งวางแผนการเพิ่มมูลค่าสินค้า การขับเคลื่อนเชิงกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ที่จะไม่เพิ่มภาระธุรกิจไทย และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงโครงสร้างเพื่อให้เติบโตได้เมื่อโลกกลับมาเติบโตอีกครั้งในอีกไม่กี่ปีจากนี้