กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน 'เที่ยวข้ามภาค'

กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน 'เที่ยวข้ามภาค'

“ททท.” รับลูกรัฐบาลต่อยอดนโนบายพัฒนาสนามบิน “เพชรหัวหิน" รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ สู่การเป็นสนามบินนานาชาติที่สมบูรณ์ เจรจาสายการบินเปิดเส้นทางบินข้ามภาค  เช่น หาดใหญ่-หัวหิน อุดรธานี – หัวหิน ปั้นเป็นสนามบินฮับภูมิภาค พร้อมโปรโมทการท่องเที่ยว 4 บุรีต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • นายกรัฐมนตรีสั่งเร่งพัฒนาสนามบินเพชรหัวหินรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ สู่การเป็นสนามบินนานาชาติ
  • เร่งขยายรันเวย์ ขยายไหล่ทางอุโมงค์ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2568 เพื่อรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮต์ซีซั่น
  • ททท. เร่งแผนทำตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยว เจรจาเปิดเส้นทางบินเพิ่มเช่นหาดใหญ่-หัวหิน ,อุดรธานี - หัวหิน 

ในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ 4 บุรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ รวมทั้งการประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จ.เพชรบุรี นายกรัฐมนตรีและคณะได้ไปตรวจเยี่ยมสนามบินหัวหิน และได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาสนามบินแห่งนี้

รวมทั้งมีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อสนามบินหัวหินเป็น “สนามบินเพชรหัวหิน” เพื่อสื่อถึงความเป็นอัญมณีล้ำค่าของภาคตะวันตก สอดคล้องกับศักยภาพของสนามบินที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินแห่งใหม่ในภูมิภาคนี้

กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน \'เที่ยวข้ามภาค\'

โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการขยายรันเวย์ ขยายไหล่ทางอุโมงค์ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.2568 เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ สู่การเป็นสนามบินนานาชาติ

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการพัฒนาสนามบินเพชรหัวหินให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.ปีหน้าเพื่อให้ทันกับช่วงไฮต์ซีซั่นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ขณะที่ในส่วนของ ททท.ได้เตรียมทำแผนการตลาดรองรับทันที ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและนักเดินทางเข้ามาใช้บริการสนามบินแห่งนี้แล้วประมาณ 1 แสนคนต่อปี  โดยหลังจากการปรับปรุงสนามบินแห่งนี้ก็มีแผนที่จะผลักดันให้สามารถรับอินเตอร์ไฟลท์ และรับชาร์เตอร์ไฟลท์

กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน \'เที่ยวข้ามภาค\'

ปัจจุบันสายการบินแอร์เอเชีย ได้บินในเส้นทางเชียงใหม่-หัวหินอยู่แล้ว ซึ่งหน้าที่ของ ททท.จะต้องสร้างดีมานด์ให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเส้นทางนี้เยอะๆ  เพื่อให้สายการบินแอร์เอเชียขยายระยะเวลาการบินจากเดือนส.ค.67 ต่อเนื่องออกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็จะมีการเจรจาให้มีสายการบินที่บินจากภูมิภาคอื่นๆมายังสนามบินหัวหินมากขึ้น

นอกจากเชียงใหม่มายังหัวหินแล้วอาจจะมีสายการบินที่บินมาจากภาคอีสานมายังเชียงใหม่โดยสนามบินอุดรธานี มายังสนามบินหัวหิน หรือในอนาคตอาจมีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากสนามบินหาดใหญ่มายังหัวหินซึ่งเส้นทางการบินนี้หากมีก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคกลางและภาคตะวันตกมากขึ้นโดยอาจเดินทางด้วยเครื่องบินมายังสนามบินหัวหินแล้วจะมีการเดินทางด้วยรถไปยังจังหวัดอื่นๆด้วย

ผู้ว่าฯ ททท.ได้เตรียมวางแผนโปรโมทการท่องเที่ยว เมือง 4 บุรี  ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ เพชรบุรี ตามที่นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้จัดทัวร์นกขมิ้นลงพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  โดยเดินหน้าส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

เพื่อผลักดันกลุ่มจังหวัดภาคกลางสู่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม คงต้องเริ่มจากการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน 4 จังหวัดนี้ที่จนติดตลาดแล้วจะสามารถขายไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

   โดย 4 จังหวัดบุรีนี้ถือว่ามีความเข้มแข็งของชุมชน  สามารถนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัดมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและกิจกรรมทางการท่องเที่ยว  ได้แก่

  • สุพรรณบุรี เป็นเมืองแห่งดนตรี (City of Music)  และมีวัดไทยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก มีอาหารที่ขึ้นชื่อและขนมสาลี่สุพรรณยอดนิยม  
  • กาญจนบุรี สามารถยกระดับการแสดง แสง เสียง สะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปสู่การเป็นอีเว้นท์ระดับโลกหรือ World Event ให้ได้  ซึ่งพื้นที่นี้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่แล้ว  โดยจะเริ่มในเดือนพ.ย.ปีนี้
  • ราชบุรี นำเสนอเมืองแห่งศิลปะ งานอาร์ต และวิถีชีวิต
  • เพชรบุรี สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอาหารในฐานะเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโก้

กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน \'เที่ยวข้ามภาค\'

นอกจากนี้ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ในวันที่ 14พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถนำเสนอจุดแข็งในพื้นที่สู่จุดขายตามกลยุทธ์ “Must Do in Thailand” ได้แก่ Must Eat อาหารไทย  ในฐานะที่เพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ Gastronomy City ตามที่ยูเนสโกประกาศตั้งแต่ปี 2564

ททท.จึงได้ นำเสนอเมืองเพชรบุรีในแนวคิดเมือง 3 รส โดยชูวัตถุดิบ 3 อย่างในท้องถิ่น คือ รสเค็ม จากเกลือสมุทร ในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม รสหวาน จากตาลโตนด แหล่งปลูกตาลอำเภอบ้านลาด  และรสเปรี้ยว ของมะนาวแป้น  จากอำเภอท่ายาง ได้จัดทำออกมาเป็นเมนูเครื่องดื่มชื่อว่า “ลามปาม โซดา” หรือ Lime Palm Soda

ขณะที่ Must See โชว์ไทย     ททท.จะสนับสนุนร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ในการยกระดับงานเทศกาลพระนครคีรีงานประจำปีในพื้นที่ในรูปแบบ Light & Sound ก้าวสู่ระดับสากล  ส่วน Must Seek วัฒนธรรมไทย จะจับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายศรัทธาด้วยแนวคิดศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว นำเสนอแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ได้แก่

องค์พญานาคขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นแบบจากภาคอีสานออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีไฮไลต์ 9 โค้งแห่งความเป็นสิริมงคล ณ วัดถ้ำแจง อ.ชะอำ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวข้างเคียงให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางท่องเที่ยว

โดย ททท. สำนักงานเพชรบุรี และ ททท. สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย “Amazing Cha-Am – Hua Hin Consumer Fair” นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวชั้นนำกว่า 20 ราย ในพื้นที่ชะอำและหัวหิน เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวเหนือให้มาท่องเที่ยวทะเลชะอำ - หัวหิน และในอนาคตมีการวางแผนเพิ่มเส้นทางการบินโดยอยู่ในขั้นตอนของการเจราจากับสายการบิน เพื่อนำร่องให้บริการเส้นทางหาดใหญ่ - หัวหิน ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคภาคใต้และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียอีกด้วย 

กลยุทธ์พัฒนาสนามบิน เพชรหัวหิน ททท.เร่งเจรจาสายการบินหนุน \'เที่ยวข้ามภาค\'

ในปี 2567 ททท. ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังกลุ่มจังหวัดภูมิภาคภาคกลางไว้ที่ 103.07 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 464,613 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมกราคม - เมษายน 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังกลุ่มจังหวัดภูมิภาคภาคกลาง 36.96 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวแล้ว 161,781 ล้านบาท