AI เขย่าทักษะองค์กร ‘บิ๊กคอร์ป’ แนะ CEO เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

AI เขย่าทักษะองค์กร ‘บิ๊กคอร์ป’ แนะ CEO เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

“บิ๊กคอร์ป” ใช้ AI พัฒนาองค์กร ปตท.ตั้งศูนย์เทรนนิ่ง “ดับบลิวเอชเอ” ใช้ทุกกระบวนการ บีไอจี ยึดโมเดลบริษัทแม่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ทรู พัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เอ็มเฟค ชี้ซีอีโอเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไอบีเอ็ม ชี้ธุรกิจไทยเร่งเพิ่มความได้เปรียบ ไมโครซอฟท์ มอง 3 ปัจจัยบูม GenAI

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเมกะเทรนด์สำคัญของภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ AI เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้หลายบริษัทจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมขึ้นมา รวมถึงการดึงผู้จบการศึกษาใหม่เข้ามาฝึกอบรมก่อนเริ่มทำงาน

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  AI เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการผลักดันดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นในกระบวนการผลิตของกลุ่ม ปตท.อาทิ ระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นระบบออโตเมชั่น ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้มีการนำมาใช้งานนานแล้ว

“วันนี้ AI พัฒนาเป็น Generative AI เชื่อมโยงระบบอัตโนมัติ ที่พัฒนาองค์ความรู้ได้เอง แนวโน้ม ปตท.เองต่อยอดจากออโตเมชันที่มีอยู่มาสู่ Generative AI และใช้ Data Analytic มากขึ้น”

ทั้งนี้ จำนวนข้อมูลที่มากขึ้นและเชื่อมโยง Internet of Things (IoT) ที่มีความเร็วและความถี่ขึ้น นวัตกรรมที่นำ Generative Ai  และ Robotics มาใช้ในกระบวนการผลิตและซัพพลายเชนได้จะเพิ่มประสิทธิภาพ อนาคตอาจต้องแฝงพวกนี้ในส่วนของกระบวนการปล่อยคาร์บอนตามนโยบาย Net Zero

 

“เดิมเป็นระบบอัตโนมัติต่อไปจะสู่การกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากร Utilization การปล่อยก๊าซจะเป็นประโยชน์อาจเป็นฐานใหม่ เพราะเมื่อก่อนเรื่องพวกนี้ยังไม่มา” นายบุรณิน กล่าว

ปตท.ติวเข้มพนักงานรับทุกการเปลี่ยนแปลง

นายบุรณิน กล่าวว่า ปตท.มีหน่วยงานให้องค์ความรู้กับพนักงานเรื่องเทคโนโลยี AI ซึ่ง ปตท.ได้ตั้งบริษัท เมฆา วี จำกัด (MEKHA V) เพื่อรองรับการลงทุน AI & Robotics ตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ทำหน้าที่ผลักดันธุรกิจ AI & Robotics ในแต่ละอุตสาหกรรม 

และให้บริการทั้ง Cloud, Digital platform และ Application รวมถึง Energy อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

สำหรับ เมฆา วี ร่วมกับกลุ่ม Envision นำแพลตฟอร์ม EnOSTM ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ AloT ของ Envision Digital มาใช้บริหารจัดการระบบพลังงานหมุนเวียนในอาคารต้นแบบ M4 ที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำ แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า (อีวี) ภายในสถาบันฯ

นอกจากนี้ สถาบันวิทยสิริเมธีเป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งปี 2558 ในเมืองแห่งนวัตกรรมวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยเน้นบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล โดยเปิดสอนในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) เสมือนเป็นโรงงานผลิต Startup ออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ

“ดับบลิวเอชเอ” ใช้เอไอดันเทคคอมพานี

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้ายกระดับองค์กรในทุกมิติเพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 นี้ ภายใต้ภารกิจ “Mission To The Sun” โดยมุ่งเน้นโครงการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล การสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ พร้อมเสริมศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการพัฒนาโครงการ AI Transformation จำนวน 12 โครงการที่เน้นการนำเทคโนโลยี AI อย่าง AI & ML Data Insight, AI Cybersecurity และ Generative AI มาขับเคลื่อนองค์กร ที่เป็นการพัฒนาต่อยอดโครงการ Digital Transformation กว่า 38 โครงการของบริษัทฯ อีกด้วย

“เราเอา AI มาช่วยขับเคลื่อนองค์กร ทั้งเรื่องของไฟแนนซ์ สร้างรายได้ ซึ่งพนักงานก็จะต้องมีความรู้ด้านนี้อย่างจริงจังเพราะระบบบริหารจัดการใช้เทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนองค์กรทั้งหมด ทั้ง AI & ML Data Insight, AI Cybersecurity และ Generative AI เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Technology Company ภายในสิ้นปี 2567”

ดังนั้น ทุกพื้นที่ของบริษัทฯ จะถือเป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชั่นติดต่อกับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ระบบที่ดี่สุด พร้อมใช้โดรนบินตรวจสอบเพื่อเร่งเข้าซ่อมแซมแวร์เฮาท์ทั้งหมดได้ทันท่วงทีเพื่อยืนยันว่าทั้ง น้ำ อากาศ ต้องดีและเพียงพอ

AI เขย่าทักษะองค์กร ‘บิ๊กคอร์ป’ แนะ CEO เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

“บีไอจี” ยึดโมเดลบริษัทแม่สหรัฐ

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เปิดเผยว่า บีไอจี เป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ (Air Products) จากประเทศสหรัฐ มีความชำนาญและเป็นผู้ลงทุนโครงการกรีนไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก มุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนในระดับสากล บีไอจีจึงมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับพนักงานตามนโยบายแม่บริษัทแม่

“ปัจจุบันบุคลากรที่มีทักษะ AI เป็นที่ต้องการ แต่จะไม่ค่อยมาทำงานในบริษัทอุตสาหกรรม เพราะต้องไปทำงานกับบริษัท Tech Company ดังนั้นบริษัทแม่ที่สหรัฐมีการพัฒนาทักษะพนักงานเพื่อรองรับ AI โดยนำเด็กมหาวิทยาลัยมาฝึกทักษะ”

ทั้งนี้ ได้มีการใช้ AI เพื่อดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยการใช้ AI จะช่วยลดลงงานที่ต้องใช้แรงงานคนได้มาก ซึ่งต้องทำ Machine Learning อีกส่วนเป็นงานด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการจัดหาบุคลากรจะต้องพิจารณาโพรไฟล์และออกแบบแผนการฝึกอบรมด้าน AI ให้บุคลากร

“ทรู”เร่งเพิ่มสัดส่วดรายได้จากเอไอ

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ทรูครองใจลูกค้า ทั้งในแง่พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา 

รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมบริการที่สามารถตอบโจทย์ โดยดึงอัจฉริยภาพของ AI จะสร้างความแตกต่างให้โดดเด่นด้วยความสามารถในการเข้าใจทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นตัวช่วยด้วย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ทรู ดิจิทัล ได้ทรานฟอร์มประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างสิ้นเชิงในทุกบริการตอกย้ำความตั้งใจของทรู ดิจิทัล ในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ตลอดจนลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งหลักการออกแบบ AI คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลากหลายแหล่ง บนพื้นฐานของจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ทุกวันนี้เทคโนโลยี AI สามารถนำมาสร้างระบบอัตโนมัติที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์อย่างมีจริยธรรม ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง โดยทรู ดิจิทัลได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็น Data-AI Integrator และพร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ยุค AI First ได้เต็มรูปแบบ

ตั้งเป้าหมายสร้างผู้เชี่ยวชาญ5พันคน

ทั้งนี้ สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนที่จะช่วยทรานสฟอร์มธุรกิจ คือ การก้าวสู่ AI อย่างก้าวกระโดด โดยดึงอัจฉริยภาพและคุณสมบัติที่โดดเด่นของเทคโนโลยี AI ด้านความเชี่ยวชาญในการประมวลผลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลมหาศาล มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำข้อมูลจากหลากแหล่งมาวิเคราะห์และประมวลผลเชิงลึก เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมแกร่งการเติบโตอย่างยั่งยืน

รวมทั้ง ทรูได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คน และมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ดิจิทัล ไอโอที และดาต้าอะนาไลติกส์ 500 คนภายในปี 2568 ด้วย และทรู มุ่งมั่ผลักดันความสำเร็จขององค์กร และได้ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนการทำงานประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี 2570 ด้วยโซลูชันอัจฉริยะจากพนักงานของเราที่มีการอัปสกิลอยู่ตลอดเวลา

“เอ็มเฟค”เร่งฝึก “คน” หนุนเอไอ

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AI จะเข้ามาปฏิวัติการทำงานและการใช้ชีวิตในหลากหลายมิติ

โดยเบื้องต้นต้องมีการผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงภายในองค์กร ภายใต้โจทย์เพื่อการเพิ่มประสิทธิผล ลดต้นทุน และปรับกำลังพลบุคลากรอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ซีอีโอต้องเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนความเป็นไปได้ต่างๆ ให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้และเริ่มที่ทุกคน โดยรากฐานหลักๆ มีอยู่ 2 ส่วนคือ คน และ ดาต้า

“ต้องมีคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับAIให้ได้ เพื่อก้าวให้ทันกับความรวดเร็วและรุนแรงของพัฒนาการด้านเทคโนโลยี"

ไอบีเอ็ม มอง เงินลงทุน‘เอไอ’พุ่ง

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การลงทุนเจนเนอเรทีฟ เอไอ ทั่วโลกจากปี 2023 -2027 จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หลังจากปี 2027 จะมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้น เม็ดเงินลงทุนจะเพิ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงมากตั้งแต่ปี 2027-2030 หรือ ไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้เป็นเรื่องของการใช้งานได้จริง

“ส่วนในประเทศไทย statista วิเคราะห์ไว้ว่า จากปี 2023 -2030 จะมีเงินลงทุนด้าน AI ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเติบโตอย่างต่อเนื่อง 23% ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป การลงทุนด้านเอไอจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ถ้าเห็นตัวเลขลักษณะแบบนี้ หากซีอีโอไม่ทำอะไรเลย ไม่ตระหนัก ความเสี่ยง คือจะสูญเสียความได้เปรียบ ผลประกอบการอาจสู้คู่แข่งไม่ได้ และที่สำคัญ คือ อาชญากรไซเบอร์อาจใช้ AI สร้างความเสียหายต่อองค์กรได้ง่ายขึ้น”

นายอโณทัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้ AI ในภาคธุรกิจของไทย กลายเป็น“สิ่งที่ต้องทำ” โดยเริ่มปรับตัวเองดึง AI มาเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) สำคัญภายในบริษัท เพื่อให้เกิดตัวอย่างการใช้งานจริง (ยูสเคส) ช่วง2-3 เดือน ไอบีเอ็มเห็นการเพิ่มขึ้นของความต้องการลูกค้าที่ต้องการเอา AI เข้าไปใช้

องค์กรรัฐ-เอกชนเร่งเครื่องเอไอ

ยกตัวอย่าง ลูกค้ารายใหญ่ของไอบีเอ็มนำเอา Watsonx.ai ซึ่งเป็น AI เรือธงของไอบีเอ็มไปใช้เป็น pilot project ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไออาร์พีซี บ้านปู รวมถึง กลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์ ในส่วนของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้นำ AI ไปใช้ในเรื่องของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ตัวแชตบอทที่ใช้ขับเคลื่อนด้วย Watsonx.ai ช่วยให้การบริหารจัดการสถานีชาร์จง่ายขึ้น บอกโลเคชั่นสถานีชาร์จพร้อมให้บริการ รวมถึงระบบออโตเมชั่นเตือนผู้ใช้บริการว่าต้องชาร์จเมื่อไหร่

“ไอบีเอ็ม มองว่า เจนเนอเรทีฟ เอไอ เหมือนสารตั้งต้นเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างมาก ทุกๆ อุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ ทุกคนมีโอกาสได้ใช้เจนเอไอ เหมือนกัน ยุคที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตในอดีต พอมี เอไอ เป็นสารตั้งต้น ก็ต้องมียูสเคส มี pilot project เพื่อทดสอบในสถานการณ์จริงว่า ยูสเคสที่มีอยู่ และเทคโนโลยีที่มีการประสานกัน แล้วตอบโจทย์ธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน”

ไมโครซอฟท์’มอง 3 ปัจจัยบูม GenAI

นางชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจภาครัฐ ภาคการศึกษา และสาธารณสุขไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินขณะนี้การปรับใช้เทคโนโลยี AI ขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยนับว่าก้าวหน้าไปกว่า 100% แล้ว ส่วนองค์กรขนาดกลางและเล็กก็ใช้เกือบทั้งหมดแล้วเช่นกัน

ส่วนของ Gen AI กำลังตามมาและมีการตื่นตัวอย่างมาก โดยปีนี้ได้เห็นว่าเริ่มมีการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งถ้าระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ “Cloud First Policy” เกิดขึ้นจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน

ไมโครซอฟท์มองว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวปลดล็อก Gen AI คือ 1.Cloud First Policy 2.Procurement และ 3.การพัฒนาทักษะของบุคคลากร

สำหรับการใช้งานที่หลายๆ องค์กรเริ่มทดลองเป็นต้นแบบและมียูสเคสออกมามีอยู่หลากหลายทั้ง ผู้ช่วย AI, การแบ่งปันองค์ความรู้ แชตบอท คอลล์เซนเตอร์ งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ โดยจะเห็นได้ว่าการใช้งานไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนเกมธุรกิจทว่าช่วยเพิ่มความสะดวก ทำให้เข้าถึงข้อมูลอินไซต์ และทำให้การทำงานเป็นไปได้แบบอัตโนมัติมากขึ้นในหลายรูปแบบ