ประมูลข้าว 10ปี กับทีโออาร์“จ่ายส่วนต่าง”จากราคาสูงสุดป้องทิ้งสิทธิ

ประมูลข้าว 10ปี กับทีโออาร์“จ่ายส่วนต่าง”จากราคาสูงสุดป้องทิ้งสิทธิ

“ภูมิธรรม” มอบ กต.ชี้แจงทูตแอฟริกาด่วน ยันก่อนส่งออกข้าว ต้องได้รับการตรวจสอบ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ด้านอคส.คลอดทีโออาร์ประมูลข้าว 1.5 หมื่นตันแล้ว เปิดให้ยื่นประมูล 17 มิ.ย. นี้ ล็อกเงื่อนไขนผู้ประมูลรายแรกจะต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างทิ้งสิทธิให้กับรายที่ 2

นายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.)กล่าววว่า อคส.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลเป็นการทั่วไป โดยวันที่ 29 พ.ค.2567 จะเปิดชี้แจงทีโออาร์ให้ผู้สนใจประมูลได้รับทราบ วันที่ 31 พ.ค.-7 มิ.ย.2567 เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลเข้าตรวจสอบข้าวในโกดัง วันที่ 10 มิ.ย.2567 เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นซองคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล วันที่ 13 มิ.ย.2567 ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ และวันที่ 17 มิ.ย. เปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติยื่นซองเสนอราคา เปิดซอง เจรจาต่อรอง และคาดจะประกาศผู้เสนอราคาสูงสุดได้ในวันเดียวกัน และจะต้องมาทำสัญญากับ อคส. ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับแจ้ง

สำหรับผู้สนใจสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนงานโครงการรัฐ ชั้น 3 องค์การคลังสินค้า โทรศัพท์ 02-5075033 โทรสาร 02-5075020 หรือดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.pwo.co.th

ทั้งนี้ ข้าวสารหอมมะลิ ในสต็อกที่จะเปิดประมูล มีจำนวน 15,000 ตันโดยแยกเป็น

1. คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2557 ถึง 10 มี.ค. 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 2 เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้มีการระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ c

2. คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2557 ถึง 29 เม.ย. 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 7 วัน มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ

ประมูลข้าว 10ปี กับทีโออาร์“จ่ายส่วนต่าง”จากราคาสูงสุดป้องทิ้งสิทธิ

จ่ายส่วนต่างราคาป้องทิ้งสัญญา

รายงานข่าวแจ้งว่า ในทีโออาร์ขายข้าวในโกดังรัฐบาลครั้งนี้  มีเงื่อนไขข้อ 9.2 ระบุว่า กรณีผู้ชนะการประมูลไม่เข้าทำสัญญา หรือ ทำสัญญาแล้วไม่ปฎิบัติตามสัญญาหรือปฎิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด อคส. จะบอกเลิกสัญญา คณะทำงานรับ-เปิดซองและต่อรองราคาข้าวในสต็อกของรัฐจะเจรจาต่อรองกับผู้เสนอซื้อสูงสุดลำดับถัดไป โดยให้แจ้งยืนยันราคาเป็นลายลักษณ์อักษรและให้สิทธิเข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ละทิ้งสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหายจากส่วนต่างระหว่างราคาที่เสนอซื้อกับราคาที่จำหน่ายได้ให้กับอคส. ทั้งนี้หากยังไม่ได้ผู้ซื้ออคส.จะใช้หลักเกณฑ์นี้จนกว่าจะจำหน่ายข้าวในคลังสินค้าเสร็จสิ้น 

รายงานข่าวระบุอีกว่า เงื่อนไขดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาประมูลต่ำจนเกินไปและป้องกันไม่ให้ผู้ชนะประมูลทิ้งสัญญา โดยหลักการเงื่อนไขนี้ คือการจ่ายส่วนต่างราคาระหว่างราคาที่ผู้ชนะเสนอ กับราคาของผู้เสนอซื้อรายถัดไป เช่น ผู้ประมูลรายแรกมีการให้ราคาข้าว 15 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แต่รายที่ 2 ให้ราคา 14 บาทต่อกก. ดังนั้นส่วนต่างที่ผู้ประมูลรายแรกจะต้องจ่ายเพิ่มเติมให้กับรายที่ 2 คือ 1 บาทต่อกก. ซึ่งจะทำให้ภาครัฐได้ราคาข้าว 15 บาทต่อกิโลกรัม จะไม่ใช่ 14 บาทต่อกิโลกรัม

มองกต.แจงแอฟริกาข้าวมีคุณภาพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบถึงความไม่สบายใจของบางประเทศในตลาดแอฟริกาที่นิยมบริโภคข้าวเก่าและมีการพูดถึงข้าวสารค้างสต็อก 10 ปีที่จะออกมาประมูล จำนวน 15,000 ตัน และ เกรงว่าหลังรัฐเปิดประมูลและมีการปรับปรุงข้าวแล้วเตรียมที่จะส่งไปทำตลาดแอฟริกาทั้งหมดนั้น ซึ่งตนยอมรับว่าเกิดจากปัญหาที่หลายฝ่ายออกมาด้อยค่าข้าวไทยและพูดถึงข้าวสารเก่าในสต็อกดังกล่าวมีสารตกค้างมากมายแต่ก็ได้มีการพิสูจน์ออกมาแล้วไม่มีสารตกค้างสามารถยังบริโภคได้ จึงอยากให้ ทุกอย่างจบลงได้แล้วและไม่อยากให้ฝ่ายที่ด้อยค่าข้าวไทยออกมาพูดอีกเพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายไปมากกว่านี้

“ เพื่อให้บางประเทศในตลาดแอฟริกาได้ทราบถึงข้อเท็จจริง ซึ่งในวันนี้ทราบว่าทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีนัดหมายจะพูดคุยกับทูตแอฟริกาประจำประเทศไทย ทุกประเทศ เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงต่างๆให้กับทูตในประเทศแถบแอฟริกาได้เข้าใจแม้ไทยจะมีข้าวเก่า 10 ปีอยู่แต่ก่อนที่จะส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศในแต่ละครั้งจะต้องมีการตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศที่จะรับรองข้าวทุกกระสอบก่อนส่งออกทั้งหมด ดังนั้น เอกชนรายใดที่จะส่งออกข้าวไปตลาดต่างประเทศต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การส่งออกข้าว"

ย้ำข้าวทุกเม็ดต้องได้มาตรฐานปลอดภัย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลกในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยภายใต้ พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่ง จะต้องมีการ ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย และคุณภาพ และมีการตรวจโดย surveyor และ ตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ (LAB)

นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจหรือไม่อย่างไรเป็นกรณีๆ ไป และกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กำหนดมาตรฐานแนะนำสำหรับมาตรฐานสินค้าข้าวหอมไทย ข้าวสีไทย ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออก สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่ มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม