การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ของอุตสาหกรรมน้ำตาลคุ้มค่าหรือไม่?
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของ GDP ภาคเกษตร
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษค่อนข้างสูง โดยมีการปล่อย PM 2.5 สูงถึง 11% ของการปล่อย PM 2.5 ทั้งหมดของไทย และปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 9% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคเกษตร ทำให้อุตสาหกรรมมีความเสี่ยงจากนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ที่จะสร้างความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลของไทยให้เผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หลายฝ่ายตื่นตัวในการผลักดันให้เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
คำถามที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวคุ้มค่าหรือไม่?
Krungthai COMPASS มองว่า หากอุตสาหกรรมน้ำตาลมีการยกระดับไปใช้ Green Technology ทั้งอุตสาหกรรมจะทำให้ได้ผลประโยชน์ราว 1.7 แสนล้านบาท จากความคุ้มค่าในแง่สิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้แก่ธุรกิจ โดยมี Green Technology สามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น การใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาอ้อย การใช้ Economizer Boiler ในโรงงานน้ำตาล เพื่อนำพลังงานที่สูญเสียกลับมาใช้ใหม่ หรือการต่อยอดไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพบว่า มี ROI อยู่ที่ 21.0% 16.1% และ 27.1% ตามลำดับ และมีระยะเวลาการคืนทุนอยู่ที่ 3-7 ปี
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังได้รับแรงหนุนจากภาครัฐในการผลักดันอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ (Biochemical) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งมีเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (Biopolis) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนและวิจัยผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่นการนำวัตถุดิบสินค้าเกษตรอย่างอ้อยมาพัฒนาเป็นสารสกัดเพื่อผสมในอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง และล่าสุด ในช่วง พ.ค. 2567 ภาครัฐได้ส่งเสริมการลงทุนบริษัทร่วมลงทุนจากอินเดียในการตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูง เพื่อผลิตเซลลูโลซิกเอนไซม์ สำหรับใช้ต่อยอดไปผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ โปรตีนชีวภาพ น้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยใช้เงินลงทุนในระยะแรก 440 ล้านบาท มีกำลังการผลิตในระยะแรก 200,000 ลิตร และมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้ถึง 1 ล้านลิตร นับเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกในอาเซียน
ท้ายที่สุด ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว คือ ภาคธุรกิจควรมี Commitment และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ภาครัฐควรเป็นแกนหลักในการผลักดันให้อุตสาหกรรมน้ำตาลไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เช่น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากลอย่าง Gold Standard หรือ VERRA ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับภาคการเงินที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนใน Green Technology รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ จากการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม