ครม.ไฟเขียวไทยเข้าร่วม กลุ่ม BRICS เพิ่มโอกาสไทยร่วม ‘สร้างระเบียบโลกใหม่’
ครม.ไฟเขียวร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS หลังกลุ่มนี้ขยายความร่วมมือมายังประเทศที่ยังไม่เป็นสมาชิก เตรียมส่งตัวแทนเข้าประชุม กลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จำนวน 6 ขั้นตอน และมีหลักการแนวทางสำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา
(1) การเมืองและความมั่นคง
(2) เศรษฐกิจและการเงิน
(3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ
มาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมด ยอมรับถ้อยแถลงและปฏิญญาต่างๆ ของกลุ่ม BRICS เป็นต้น
โดย กต. ได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ฯ โดยระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS
การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่