‘คลัง’ ทบทวนภาษีที่ดิน ครบ 5 ปี คาดปี 67 จัดเก็บได้ 4.3 หมื่นล้านบาท

‘คลัง’ ทบทวนภาษีที่ดิน ครบ 5 ปี คาดปี 67 จัดเก็บได้ 4.3 หมื่นล้านบาท

“คลัง” พร้อมทบทวนภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างครบ 5 ปี ย้ำจัดเก็บภาษีอัตราเดียวเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น มีอิสระในการกำหนดนโยบาย คาดปี 67 จัดเก็บภาษีที่ดิน ได้ 4.3 หมื่นล้าน สูงกว่าช่วงจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสวนาในหัวข้อ "ครบ 5 ปี ภาษีที่ดินฯ : อนาคตอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทย" ในงาน “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ว่า การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ยอมรับว่าเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และประชาชน ซึ่งในปี 2567 นี้จะถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายครบ 5 ปี กระทรวงการคลังจึงได้เริ่มกระบวนการทบทวน และปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวว่าตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ 

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นแล้วระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 15 พ.ค.2567 โดยมีผู้ให้ข้อคิดเห็น 500 กว่าราย หลังจากนี้จะนำมาประมวลข้อเสนอ และความเห็น มาทำแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ คาดปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ 

“เชื่อว่าภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีที่ดี ทั้งนี้ควรมีปรับในบางเรื่อง หลังจากที่มีการบังคับใช้จริงแล้วเจออุปสรรคปัญหาจึงอยากให้ทุก 5 ปีมาคุย ให้คำแนะนำ และพร้อมนำไปปรับแก้ไขให้ดีขึ้น”

ทั้งนี้ ก่อนมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 เป็นการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเชื่อว่า 2 ภาษีนี้เป็นภาษีที่ดี และเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาเยอะ เนื่องจากเป็นการจัดเก็บภาษีในอัตราถดถอย และมีการใช้ดุลยพินิจสูงจึงขาดประสิทธิภาพ จึงปรับปรุงให้เป็นภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

“ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหามาก จึงเลือกออกกฎหมายใหม่ ลดการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ เพราะเก็บแบบเดิมผลที่ตามมาคือ เก็บภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงที่ดินสะสมความมั่งคั่ง เพราะเศรษฐีไม่ขาย เก็บไว้ให้ลูกหลาน โดยการมีภาษีที่ดินฯ จะทำให้เกิดการทำประโยชน์มากขึ้น”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า ภาษีที่ดินฯ ไม่ได้เป็นรายได้ของรัฐบาล แต่เป็นของท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเงินที่สามารถใช้ได้เองตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น ทำถนน สิ่งแวดล้อม เป็นเงินอิสระท้องถิ่นเก็บเองก็ใช้เอง เปรียบเสมือนค่าส่วนกลาง และท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์ นำรายได้ไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับผลของการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เดิมคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ 40,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2563 เจอสถานการณ์โควิดจึงปรับลดการจัดเก็บ 90% โดยเก็บภาษีจริง 10% จนถึงปี 2564 

ขณะที่ปี 2565 เก็บภาษีในอัตรา 100% จัดเก็บได้ 35,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเก็บภาษีโรงเรือน 36,000 ล้านบาท และในปี 66 กลับมาลดอัตราการจัดเก็บ 15% เป็นมาตรการเยียวยา หลังจากมีการปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่ม ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าจะเก็บภาษีได้ 43,000 ล้านบาท

“เชื่อว่าโอกาสท้องถิ่นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ทำได้อีกเยอะ แม้อุปสรรคยังมี การเปลี่ยนมือที่ดินฯ ข้อมูลยังไม่มีการเป็นล่าสุด เพราะเจ้าของเปลี่ยนมือแต่ข้อมูลไม่เปลี่ยน ทางท้องถิ่นต้องมีเครื่องมือความทันสมัย ในการจัดเก็บที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม ท้องถิ่นต้องขยัน ออกแรง ในเขตความรับผิดชอบและทำประโยชน์”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์