ปั้น 'อู่ตะเภา' สนามแข่ง 'เอฟวัน' UTA บรรจุแผน 'เมืองการบิน' เปิดปี 71

ปั้น 'อู่ตะเภา' สนามแข่ง 'เอฟวัน' UTA บรรจุแผน 'เมืองการบิน' เปิดปี 71

"อู่ตะเภา" ปักหมุดสนามแข่งฟอร์มูลาวัน UTA คาดเปิดเฟสแรกปี 2571 สร้างรอบสนามบิน ยันไม่กระทบความปลอดภัย ขึ้นแท่นสนามบินแรกของโลกมีสนามแข่งรถ "เศรษฐา" สั่งทำแผนฟอร์มูลาอี แข่งรถไฟฟ้าควบคู่ สกพอ.ชี้ต้องปรับแผนศูนย์ซ่อมเครื่องบินขยับพื้นที่รองรับ

KEY

POINTS

  • ‘อู่ตะเภา’ ปักหมุดสนามแข่งฟอร์มูลาวัน UTA เร่งพัฒนาเป็นเฟสแรก คาดเปิดบริการปี 2571 มั่นใจดันขึ้นแท่นสนามบินแห่งแรกของโลกที่มีสนามแข่งรถ 
  • เปิดแผนก่อสร้างรอบสนามบิน พร้อมออกแบบให้แข่งขันรถได้หลายประเภท ยืนยันไม่กระทบความปลอดภัยอยู่นอกเขตการบิน
  • ‘เศรษฐา’ สั่งเร่งทำแผนฟอร์มูลาอี แข่งรถไฟฟ้าควบคู่ หวังกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูง
  • สกพอ.ชี้ต้องปรับแผนศูนย์ซ่อมเครื่องบิน MRO ขยับพื้นที่รองรับสนามแข่งรถ เหตุเป้าหมายเดิมเล็งสร้าง 1,100 ไร่ แต่มีพื้นที่ติดถนนสนามแข่งขัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะดึงการแข่งรถสูตร 1 (ฟอร์มูล่า 1) เข้ามาจัดแข่งขันในไทย โดยระหว่างการเดินทางเยือนอิตาลีเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 ได้หารือกับผู้บริหารสนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari ที่เมืองโบโลญญา และนายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน

สำหรับแผนการจัดแข่งขันฟอร์มูล่า 1 ของรัฐบาล จะเริ่มจัดการแข่งขันปี 2571 โดยจัดการแข่งขัน 3 วัน และจะเพิ่มการแข่งขันฟอร์มูล่า 2 ด้วย รวมทั้งจะดึงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาเป็นสปอนเซอร์การแข่งขัน 

ในลักษณะเดียวกับมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันและมีบริษัทปิโตรนาสเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งการเดินทางไปเยียมสนามแข่งขันที่อิตาลีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมด้วย

ขณะที่แผนการพัฒนาสนามแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ได้มีการกำหนดในแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งกำหนดเฟส 1 เปิดบริการปี 2571 โดยพื้นที่สนามอยู่รอบเมืองการบินภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ 6,000 ไร่ และอยู่นอกเขตการบิน (Airside) จึงเป็นสนามบินแห่งแรกของโลกที่มีสนามฟอร์มูล่าวัน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐาได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ค.2567 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำแผนส่งเสริมการแข่งรถฟอร์มูล่าอี ซึ่งเป็นการแข่งรถที่เป็นรถไฟฟ้าที่ปัจจุบันม่ีความนิยมมากขึ้น โดยจะจัดแข่งควบคู่ไปกับการแข่งฟอร์มูล่า1 ซึ่งจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยได้เป็นจำนวนมาก

ปั้น \'อู่ตะเภา\' สนามแข่ง \'เอฟวัน\' UTA บรรจุแผน \'เมืองการบิน\' เปิดปี 71

สนามแข่งรถอยู่นอกเขตการบิน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สนามแข่งขันฟอร์มูลาวัน อยู่ในแผนแม่บทเมืองการบินภาคตะวันออก 

ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้เสนอมายัง สกพอ.ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งภาครัฐพร้อมสนับสนุนโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเป็นหนึ่งในโครงการที่จะสนับสนุนเป้าหมายสร้างให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว สปอร์ตคลับและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เพื่อทำให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยว

“การสร้างสนามแข่งรถเป็นหนึ่งในแผนที่ UTA ต้องการพัฒนาอยู่แล้ว เพราะต้องบริหารพื้นที่เมืองการบินให้สร้างรายได้สูงสุด โดยสนามแข่งรถเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง มีอีเวนต์การแข่งขันจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง”

นายจุฬา กล่าวว่า สกพอ.ยืนยันว่าการพัฒนาสนามแข่งรถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองการบินและไม่ขัดต่อบริการผู้โดยสาร และความปลอดภัยด้านการบิน โดยสนามแข่งรถอยู่รอบเมืองการบินภาคตะวันออก แต่อยู่นอกพื้นที่เขตการบิน (Airside) 

นอกจากนี้ เมื่อจัดการแข่งขันฟอร์มูลาวันเสร็จจะนำพื้นที่ดังกล่าวมาหารายได้เชิงพาณิชย์กิจกรรมอื่น โดยสนามแข่งรถแห่งนี้จะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวหลากหลาย ซึ่ง สกพอ.มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสนับสนุน เพราะจะสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นจริง

ตั้งเป้าเปิดบริการเฟสแรกปี 2571

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า สนามแข่งขันเป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องการพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูง เพราะเป็นกิจกรรมระดับโลกเป็นที่รู้จักและมีการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ UTA จะลงทุนพัฒนาสนามแข่งรถแห่งนี้อยู่ในระยะที่ 1 ของการลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภา โดยจะดำเนินการพร้อมกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาระยะที่ 1 ตามเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571

“หากรัฐบาลมีนโยบายให้เร่งรัดสร้างสนามแข่งฟอร์มูลาวัน พร้อมที่จะเร่งรัดนำมาดำเนินการก่อนได้ เพราะตอนนี้ได้รับมอบพื้นที่เมืองการบินมาบางส่วนแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนพัฒนาในหลายโครงการ แต่ยังคงยืนยันว่าทุกโครงการจะเห็นผล จำเป็นต้องมีสนามบินอู่ตะเภา ต้องเริ่มก่อสร้างด้วย เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเพิ่มมากขึ้น” นายวีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากพัฒนาสนามแข่งฟอร์มูลาวันและเปิดให้บริการ จะผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินแห่งแรกของโลกที่มีกิจกรรมด้านกีฬาในลักษณะนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น

ออกแบบแข่งขันรถได้หลายประเภท

แหล่งข่าวจาก สกพอ.กล่าวว่า แผนการลงทุนสร้างสนามแข่งรถฟอร์มูล่าวันในเมืองการบินอู่ตะเภามีการออกแบบให้เป็นสนามแข่งรถที่รองรับรถได้หลายประเภทนอกจากการแข่งรถฟอร์มูล่าวันได้แล้วจะนำรถสปอร์ตหรือรถแข่งที่เป็นกลุ่มรถหรูเข้ามาแข่งในสนามนี้ ซึ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้มีรายได้สูงที่บางกลุ่มอาจใช้การเช่าเหมาลำเครื่องบินมาจากต่างประเทศ และนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่นี้ได้ 

นอกจากนี้ การสร้างสนามฟอร์มูล่าวันแม้ในการออกแบบจะไม่กระทบกับรันเวย์ที่จะขึ้นลงของสนามบินแต่จะกระทบกับบางโครงการที่อยู่ในพื้นที่เมืองการบินอู่ตะเภา โดยเฉพาะโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งเดิมในการออกแบบได้กันพื้นที่ไว้ให้ส่วนนี้ 1,100 ไร่ ซึ่งเดิมนั้นได้ให้ MRO ที่จะสร้างอยู่ด้านพื้นที่ติดถนนหลักที่จะผ่านโครงการ 

แต่หากจะสร้างสนามฟอร์มูล่าวันก็จะต้องมีการย้ายโครงการนี้ไปอยู่ในพื้นที่บริเวณอื่นในโครงการ ซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารสัญญาของภาครัฐจะต้องไปหารือกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันอย่างไร 

“ซีพี” ยื่นขอบีโอไอใหม่ไฮสปีดเทรน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การขอสิทธิประโยชน์ในการขอส่งเสริมการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 

โดยเป็นโครงการสำคัญในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของบริษัท เอเชีย เอราวัณ จํากัด บริษัทในกลุ่มซีพีว่าหลังจากที่การขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งสุดท้ายได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567

ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้เข้ามาพบเพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ สกพอ.รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป โดยบริษัทได้แจ้งยืนยันที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

ขณะนี้บีโอไอและบริษัทอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด เพื่อจัดเตรียมเอกสารและแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนสำหรับใช้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่อีกครั้ง

“ขอยืนยันว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว