เปิด 5 มรสุม ‘เศรษฐกิจไทย’ ในวันภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลาง 'ขัดแย้ง' รุนแรง
เปิด 5 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงในตะวันออกกลาง สศช.เปิดข้อมูล กระทบการลงทุนและท่องเที่ยวไม่มาก แต่อาจกระทบกับราคาน้ำมันและพลังงานได้หากสถานการณ์บานปลาย เพราะน้ำเข้าน้ำมันกว่า 50% จากตะวันออกกลาง ห่วงเสี่ยงกระทบห่วงโซ่อุปทาน
KEY
POINTS
- สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นระลอกหลังตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 เป็นต้นมา เพิ่มความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก
- สศช.ประเมินความเสี่ยง 5 ด้านที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากได้มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงเพื่อรับความไม่แน่นอนในสถานการณ์โลก
- โดยความเสี่ยงสูงสุดคือเรื่องของราคาพลังงาน และต้องระวังผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์และกระทบห่วงโซ่การผลิตด้วย
“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้ง "เศรษฐกิจโลก" และ"เศรษฐกิจไทย" โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ประกอบกับความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
เมื่อรวมกับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่หากยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกและระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้
ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลงจากเดิม 2.7% เหลือประมาณ 2.5%
ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่กลับมาปะทุอีกครั้งหลังจากการโจมตีกันระหว่างอิสราเอล และฮามาส ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 มาถึงการตอบโต้ทางการทหารกันระหว่างอิสราเอล และอิหร่านจนเกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ระดับภูมิภาคได้
โดยปัจจุบันนี้สถานการณ์ลดความตรึงเครียดลงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สิ้นสุดลง หลายฝ่ายยังคงจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลางว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากเพียงใด
สำหรับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่กระทบกับเศรษฐกิจของไทยนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม สศช.ได้คาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจไทยไว้ 5 ด้าน ดังนี้
1.ผลกระทบโดยตรงผ่านการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุนโดยตรง โดยประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรง (อิสราเอลและอิหร่าน) ในสัดส่วนที่ต่ำ โดยผลกระทบในช่องทางดังกล่าวจึงมีอย่างจำกัด
2.ผลกระทบที่จะเกิดกับราคาพลังงาน ภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสำคัญในแง่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสำคัญของน้ำมันดิบส่งผลให้สถานการณ์ในภูมิภาคจะมีผลต่อระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมี่การนำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคดังกล่าวมากกว่า 50% จึงเป็นช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักที่มีต่อประเทศไทย หากมีการสู้รบขยายวงกว้างจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้
โดยปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศมีสัดส่วนตามการนำเข้าจาก 10 ประเทศหลัก ดังนี้
- สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) 36.5%
- ซาอุดิอาระเบีย 15%
- มาเลเซีย 8.2%
- สหรัฐฯ 7.4%
- อินโดนิเซีย 4.7%
- ลิเบีย 3.9%
- แองโกลา 3.5%
- ญี่ปุ่น 3.5%
- ไนจีเรีย 3%
- ยุโรป 2.5%
3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ผลกระทบดังกล่าวยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยราคาวัตถุดิบทางการเกษตรและสินแร่สำคัญ ๆ มีการปรับขึ้นภายหลังจากเดือนตุลาคม 2566แต่เป็นการปรับขึ้นในระดับที่น้อยกว่าช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มขึ้น เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ
4.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) มากขึ้น อาทิ ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ อ่อนค่าลง ขณะที่ตลาดทุนมีความผันผวนในระยะสั้นภายหลังจากที่เหตุการ์ณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น
และ 5.การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ผลกระทบหลักมาจากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตีในเยเมน ส่งผลให้การขนส่งผ่านทะเลแดงและคลองสุเอชปรับตัวลดลงจนส่งผลต่อต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ และกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าและส่งออกของไทยได้ เนื่องจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น