ออมสิน ผนึก BAM ตั้ง 'ARI AMC' แก้หนี้ SME-บัตรเครดิต 5 แสนบัญชี พ้นแบล็กลิสต์
ออมสิน-BAM ร่วมทุนตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ ทุนจดทะเบียน 1 พันล้าน รับโอนหนี้เสียเฟสแรกจากออมสิน 5 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยลูกหนี้รายย่อย SME และหนี้บัตรเครดิต พ้นสภาพหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร กลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อในระยะเวลาสั้นลง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยเร่งสำคัญจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ SME และประชาชนจำนวนมากที่เป็นหนี้ ทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ ขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ทั้งยังมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่สามารถกลับเข้ามาสู่สินเชื่อในระบบได้ในระยะเวลาอันใกล้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะลูกหนี้ 4 ประเภท ได้แก่ ลูกหนี้ช่วงโควิด ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้สูง ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน และกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 1 ปี ซึ่งลูกหนี้เหล่าหนี้บางกลุ่มมีสถานะเป็น NPLs แล้ว และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสะท้อนจากสัดส่วนหนี้กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้มากและมีรายได้ไม่แน่นอน ราว 7-8 แสนราย
ล่าสุด ได้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ระหว่างธนาคารออมสิน ร่วมกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ในนาม บริษัท บริหารสินทรัพย์อารืย์ จำกัด (ARI-AMC) เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินของรัฐ และช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ และมีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตเร็วขึ้น จากเดิมที่หากเป็นหนี้ NPL จะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่เป็นเวลา 5 ปี และประวัติในเครดิตบูโร 3 ปี ให้กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้
"ขณะเดียวกันการใช้มาตรการด้านการเงินจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้นในภาพรวม มีเสถียรภาพและช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน"
โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจัดการได้กว่า 70-80% และคาดว่าในช่วงต้นปี 2568 จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึง หนี้ของ SFIs อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ARI-AMC จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากัน ที่ร้อยละ 50 เพื่อไม่ต้องบันทึกหนี้เสียในงบดุลฯ และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยจะมีการยื่นขอขึ้นใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าในช่วงปลายเดือนก.ค.67 จะสามารถรับซื้อหนี้จากธนาคารได้
โดยในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน ซึ่งเป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย และมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM จะให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุนโดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน