เอกชนจี้เคลียร์ปม 'แลนด์บริดจ์' ห่วงเวนคืนส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
เอกชนไทย-ต่างชาติ ส่งสัญญาณลงทุน “แลนด์บริดจ์” พบบิ๊กคอร์ปไทย กลุ่มอมตะ WHA สยามพิวรรธน์ ร่วมเวทีรับฟังความเห็นออกแบบโมเดลการลงทุน ขณะที่กลุ่มจีน ญี่ปุ่น ดูไบ สำรวจพื้นที่จริง “คมนาคม” เร่งเข็น พ.ร.บ.SEC เข้าสภาภายในปีนี้ หวังเปิดประมูลปี 68 ดันลงทุน 1 ล้านล้านบาท
KEY
POINTS
- เอกชนไทย - ต่างชาติ ส่งสัญญาณลงทุน “แลนด์บริดจ์” พบบิ๊กคอร์ปไทย กลุ่มอมตะ WHA สยามพิวรรธน์ ร่วมเวทีรับฟังความเห็นออกแบบโมเดลการลงทุน
- ด้านนักลงทุนต่างชาติ กลุ่มจีน ญี่ปุ่น ดูไบ ทยอยสำรวจพื้นที่จริง หวังประเมินศักยภาพทางการลงทุน
- “คมนาคม” ตั้งเป้าเข็น พ.ร.บ.SEC เข้าที่ประชุม ครม. และสภาผู้แทนราษฎรภายในปีนี้ หวังเปิดประมูลปี 2568 ดันลงทุน 1 ล้านล้านบาท
กระทรวงคมนาคมได้สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) หลังจากจบการโรดโชว์ต่างประเทศ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การสัมมนานี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดเพื่อให้ข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ ก่อนจะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดรวบรวมไปประกอบการจัดทำเอกสารประกวดราคา (RFP)
รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) ที่ประกอบด้วย การกำหนดข้อกฎหมาย เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์การลงทุน
อย่างไรก็ดี จากการเดินทางของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการแลนด์บริดจ์ในต่างประเทศเห็นสัญญาณตอบรับการลงทุนจากนักลงทุนจำนวนมาก อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และประเทศฝั่งเอเชีย ตะวันออกกลาง รวมทั้งมีนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) เดินทางมาสำรวจพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพการลงทุน
ขณะเดียวกัน การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เห็นสัญญาณบวกต่อการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ชัดเจนมากขึ้น จากการตอบรับของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้มากกว่า 100 ราย ทำให้มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะไม่ใช่โครงการขายฝัน แต่เป็นโครงการที่จะเกิดการลงทุนจริง และกระตุ้นการลงทุนในเม็ดเงินสูงระดับ 1 ล้านล้านบาท
เอกชนห่วงส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
นางมนพร กล่าวว่า ประเด็นที่นักลงทุนยังกังวลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ การเวนคืนที่ดิน และการกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่นั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ลงสำรวจปัญหาและอยู่ระหว่างประสานกระทรวงมหาดไทยเพื่อเร่งแก้ไขผลกระทบกับประชาชน ในกรณีที่มีประชาชนบางกลุ่มไม่ได้ถือสิทธิ์ครองที่ดิน และเมื่อมีการเวนคืนก็จะไม่ได้รับการเยียวยา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขเพื่อชดเชยประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน
“จากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้เกิดโครงการแลนด์บริดจ์ มีเพียงบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย และยังติดปัญหาการชดเชยผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขเรื่องนี้ ส่วนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EHIA คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ดังนั้นภาพรวมโครงการก็จะไม่มีปัญหาด้านการเตรียมพื้นที่”
“คมนาคม” เสนอร่างกฎหมาย ก.ย.นี้
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดัน พ.ร.บ.SEC เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และเป็นปัจจัยบวกสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ตลอดจนการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้
รวมทั้ง สนข.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดัน พ.ร.บ. SEC เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรับการพิจารณาจากรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในการพิจารณา แต่การผลักดัน พ.ร.บ. SEC เป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการเร่งรัดพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว และสอดคล้องต่อการจัดทำเอกสาร RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประกวดราคาควบคู่ไปกับขั้นตอนออก พ.ร.บ. SEC
ยึดต้นแบบสิทธิประโยชน์ พ.ร.บ.อีอีซี
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเพื่อการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายกับ พ.ร.บ.EEC อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี สัดส่วนการร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่เปิดโอกาสให้ถือครองสัดส่วนการลงทุนได้กว่า 51%
นอกจากนี้ยังจะมีการกำหนดข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความต้องการของภาคเอกชนที่เปิดรับฟังไปในงานสัมมนาครั้งนี้
ส่วนเป้าหมายดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนแล้ว ในปีงบประมาณ 2568 สนข.เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการ เพื่อประกวดราคาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568 ส่วนรายละเอียดรูปแบบการลงทุนจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ระยะเวลา 50 ปี
ทั้งนี้ เอกชนผู้ร่วมทุนจะได้รับสิทธิบริหารโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ
รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยเนื่องจากการลงทุนมีมูลค่าสูงถึง 1.001 ล้านล้านบาท ดังนั้นจะมีการกำหนดให้เอกชนสามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)
ขณะที่รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ
ลงทุนครั้งใหญ่ 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้พัฒนาโครงการ มูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท
นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
นายปัญญา กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ จากการศึกษาความเหมาะสมแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้าน ที.อี.ยู เปิดให้บริการภายในปี 2573
ระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้าน ที.อี.ยู เปิดให้บริการปี 2582 และระยะที่ 3 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 8 ล้าน ที.อี.ยู ส่งผลให้ทั้งโครงการสามารถรองรับปริมาณได้ทั้งหมดฝั่งละ 20 ล้าน ที.อี.ยู
บริษัทไทย-ต่างชาติแห่รับฟังข้อมูล
สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้ พบว่ามีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม ดังนี้
1.บริษัทสายเดินเรือ เช่น K Line , Interasia Lines 2.ผู้ประกอบการท่าเรือ เช่น ไชน่า ฮาร์เบอร์ , HeBei Port Group , Evergreen Container , Royal Haskoning DHV Vietnam
3.ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยและต่างชาติ เช่น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด , TWLS , Pacific Construction 4.สถาบันการเงินไทยและต่างชาติ เช่น กรุงไทย , The Hokuriku Bank , Bank of China
5.นิคมอุตสาหกรรม เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) , บริษัทอมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่การทูตจากประเทศที่สนใจโครงการแลนด์บริดจ์เข้าร่วม ประกอบด้วย เมียนมา , ญี่ปุ่น , ปากีสถานและอินเดีย