แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร กระจายการผลิตลดการกระจุกตัว จำหน่ายลำไยคุณภาพได้ราคาดี

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พื้นที่ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเกษตรมีการปลูกข้าวเป็นหลัก แต่เกิดสภาวะน้ำท่วมจึงปรับเปลี่ยนมาปลูกลำไย กระทั่งในปี 2561 จึงเริ่มรวมกลุ่มในรูปแบบของแปลงใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 154 ราย ผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุน 11 บาทต่อกิโลกรัม ผลผลิตรวม 1,000 ตันต่อปี มีรายได้มากกว่า 120 ล้านบาท

แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

 นอกจากนี้ทางกลุ่มมีการจัดกิจกรรมผ่านหลักสูตรร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสมาชิก เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำชีวภัณฑ์ การตัดแต่งกิ่ง/ตัดแต่งช่อผล การเลี้ยงผึ้งช่วยผสมเกสร ระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการทำการเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP การตลาดออนไลน์ การสร้างรายได้เสริมในสวนลำไย (เลี้ยงปลา) และการบริหารจัดการกลุ่ม เป็นต้น โดยสมาชิกในกลุ่มเน้นการผลิตและใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ผลิตเองร่วมกับปุ๋ยเคมี ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกลำไยพันธุ์อีดอเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากทำลำไยในฤดู และช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม เกษตรกรจะราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเร่งเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการออกดอกลำไย ให้สม่ำเสมอ จากนั้นต้นลำไยจะออกดอกช่วงเดือนมกราคม ซึ่งกลุ่มเน้นการกระจายการผลิตลำไยให้ออกในหลายช่วงเพื่อลดการกระจุกตัวของผลผลิต 

แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

 

นอกจากนี้ยังมีการปลูกลำไยพันธุ์สีชมพู ซึ่งเป็นลำไยพันธุ์พื้นเมือง มีเฉพาะที่ตำบลหนองตอง ประมาณ 600 ต้น ซึ่งผลผลิตมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้มีราคาค่อนข้างสูง ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท ด้านการบริหารจัดการภายในสวนมีคลองเชื่อมด้วยระบบท่อระหว่างสระเก็บน้ำในสวนกับแหล่งน้ำชลประทาน แล้วต่อเข้าสปริงเกอร์ ซึ่งทางกลุ่มใช้สปริงเกอร์แบบ 100% มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยสมาชิกมีการเรียนรู้เกษตรแม่นยำผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัครใช้โดรนทางการเกษตรเพื่อทดลองในพื้นที่ 2 ไร่ การใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน ด้วยผสมปุ๋ยใช้เอง และมีหมอดินในพื้นที่ช่วยให้คำปรึกษา มีสมาชิก YSF แปรรูปลำไย Freeze แปรรูปเป็นน้ำลำไย และตรวจดูแปลงเป็นประจำ ใช้สารชีวภัณฑ์และปุ๋ยเกล็ดตามความจำเป็น

 

แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

 

“แปลงใหญ่ลำไยตำบลหนองตองส่งผลให้เกิดการพัฒนาในมิติอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การพัฒนามาตรฐาน GAP การพัฒนาช่องทางการตลาด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลหนองตองมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

 

 โดยในส่วนของการการดำเนินการตามหลักการของแปลงใหญ่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตจากเดิม 14,000 บาทต่อไร่ เหลือ 9,300 บาทต่อไร่ จากการที่สมาชิกผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง และมีการใช้สารชีวภัณฑ์ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี ด้านการเพิ่มผลผลิต สามารถเพิ่มผลผลิตลำไย จากเดิม 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ด้านพัฒนาคุณภาพ ทุกแปลงได้รับมาตรฐาน GAP 100% ด้านการตลาด มีการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ Online และ Modern Trade และด้านการบริหารจัดการ สมาชิกมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง และได้จดทะเบียนในรูปของห้างหุ้นส่วนจำกัด และวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ในอนาคต มีแผนขยายตลาดภายในประเทศ ขยายพื้นที่ปลูกลำไยพันธุ์สีชมพู และผลักดันสู่การจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตร

แปลงใหญ่ลำไยหนองตอง จ.เชียงใหม่ ต้นแบบไม้ผลครบวงจร

 

“การดำเนินงานที่เข้มแข็งของแปลงใหญ่ลำไยลำหนองตอง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 แปลงใหญ่ไม้ผลนำร่อง เพื่อพัฒนาเป็นแปลงต้นแบบครบวงจร และสร้างแปลงเครือข่ายให้เป็นแปลงต้นแบบ ในโครงการการสร้างแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจร ปี 2567 จากการจัดลำดับจำนวนแปลงใหญ่ไม้ผล ตั้งแต่ปี 2559 – 2566 ซึ่งไม้ผล 4 ลำดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะม่วง ซึ่งแปลงใหญ่ไม้ผลใน 4 ชนิดนี้ บางแปลงได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งมีความพร้อมที่จะเป็นแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจรได้

อีกทั้งภาครัฐได้มีนโยบายการขับเคลื่อนการเกษตรด้วย BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าภาคเกษตรบนฐานความหลากหลายของทรัพยากร มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากร และมีความยั่งยืน”