สรท.ห่วงปัญหาทะเลแดงดันค่าระวางเรือพุ่งสูง 30-40%
สรท. เผย การส่งออกในครึ่งปีแรก ยังโตได้ตามเป้าหมาย 1-2% ห่วงปัญหาในทะเลแดง ที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้งดันค่าระวางเรือสูง 30-40% กดดันส่งออกครึ่งปีหลัง หวั่นวืดเป้าทั้งปีโต 1-2 % ขอ "พาณิชย์" ถกกรอ.พาณิชย์ หาแนวทางแก้ปัญหา เสนอให้ค่าขนส่งทางทะเลเป็นบริการควบคุม
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งอออกไทยในครึ่งปีแรก ยังคงได้รับอานิสงส์บวกจากเงินบาทอ่อนค่า โดยอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ สินค้าหลายรายการ ยังส่งออกได้ดี ทั้งข้าว ยางพารา และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมทั้งในกลุ่มรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ถือเป็นว่าไปได้ดี ขยายตัวได้ 1.4% แต่หากหักสินค้าทองคำ น้ำมัน และยุทธโธปกรณ์ การส่งออก จะโตถึง 3.7% จึงมั่นใจว่า ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกไทย จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 1-2% สนับสนุนให้ทั้งปีโตได้ตามเป้าหมายเช่นกันที่ 1-2%
อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยลบจากภายนอกที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีน ดูจากดัชนีภาคการผลิตหรือPMI ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 และในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกไปจีนติดลบ 6 % เนื่องจากสินค้าหลายตัวของไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ล้อรถยนต์
แต่ในส่วนของการส่งออกไปสหรัฐถือว่าดีมาก 4 เดือนขยายตัวถึง 13.4 % ซึ่งเป็นผลมาจากจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้ไทยส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ต่อเนื่อง
นายชัยชาญ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต้องจับตาปัญหาค่าระวางเรือที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในทุกเส้นทางจากปัญหาทะเลแดง บางเส้นทางก็สูงแบบผิดปกติ โดยปรับสูงขึ้นไปแล้ว 30-40% ภายใน 1 เดือน ถือว่าสูงกว่าในช่วงเกิดวิกฤติทะเลแดงในระลอกแรก ในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สูงเท่ากับช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ผู้ส่งออก ประสานกับผู้นำเข้าใกล้ชิดในการส่งมอบสินค้า
ทั้งนี้ สรท.ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ เพื่อเสนอให้ ค่าบริการขนส่งทางทะเล เป็นบริการควบคุม เพื่อให้มีราคาอ้างอิงเป็นของไทยเอง และใช้เพื่อติดตามสถานการณ์เท่านั้น แต่ไม่ใช้เพื่อการควบคุม หรือ กำหนดเพดานราคาแต่อย่างใด
“ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอย่างต่อเนื่องทั้งในตะวันออกกลาง ทะเลแดง ซึ่งคงต้องจับอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นสูงมากหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตามทาง สรท. ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 1-2% โดย 8 เดือนที่เหลือ ต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 24,200 ล้านดอลลาร์ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่บานปลายไปกว่านี้ เชื่อว่า ไทย จะรักษาระดับการส่งออกตามเป้าหมายไปได้”
นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการตั้งกำแพงภาษีการค้า โดยเฉพาะระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า ค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนกระทบต้นทุนและระยะเวลาการดำเนินการ
3. ผู้ส่งออกกกลุ่ม SMEs เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และ 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลผลิตภาคการเกษตร
ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะประกอบด้วย 1. รัฐบาลต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2 ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่ง โดยการจองระวางล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม
3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญา 4.รัฐบาลต้องสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก 5. รัฐบาลต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ กาแฟ มะพร้าว ฯลฯ และ6> รัฐบาลต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง.
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสรท. กล่าวว่า ปัญหาค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางส่งสินค้าไปยุโรป สูงขึ้นไปถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต หรือเฉลี่ยสูงถึง 400% หรือ 4 เท่า ส่วนเส้นทางส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 40 ฟุต หรือ สูงขึ้นถึง 200% หรือ 2 เท่าเป็นผลจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการผลักดันการส่งออกของจีน ไปสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้ง
ประเมินว่า ปัญหาค่าระวางเรือ ยังทรงตัวสูงไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งผู้ส่งออกมีออเดอร์สั่งสินค้าแต่มีปัญหาส่งสินค้าไม่ได้ หรือล่าช้า ทำให้ผู้ส่งออกจะต้องแย่งกันจองสายเดินเรือล่วงหน้าหลายเดือนและต้องแบกรับค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น