“LEO” ดาวเทียมวงโคจรต่ำ โอกาสใหม่ในการยกระดับภาคธุรกิจไทย

“LEO” ดาวเทียมวงโคจรต่ำ   โอกาสใหม่ในการยกระดับภาคธุรกิจไทย

การเริ่มเข้ามาของบริการดาวเทียม LEO (Low-Earth-Orbit) ในไทย เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลของไทย

บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายดาวเทียม LEO ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย โดย LEO เป็นดาวเทียมที่มีระยะวงโคจรใกล้พื้นโลกมากกว่าดาวเทียมประเภทอื่น และถูกพัฒนาให้มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดราว 150-200 Mbps ใกล้เคียงกับอินเทอร์เน็ตประจำที่ในหลายประเทศ อีกทั้ง ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่อินเทอร์เน็ตประจำที่ และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ไม่สามารถให้บริการได้ โดยเฉพาะการรองรับการใช้งาน Internet of Things (IoT) ของภาคธุรกิจที่ต้องการ การรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์จากทุกมุมโลก เช่น การติดตามตำแหน่ง และควบคุมอุณหภูมิตู้สินค้าระหว่างการขนส่งของธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างในพื้นที่ห่างไกล และแจ้งเตือนทันทีเมื่อแรงงานเข้าใกล้พื้นที่อันตราย นอกจากนี้ บริการดาวเทียม LEO ยังถูกใช้กับการบริหารจัดการของภาครัฐ เช่น การตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำในสหภาพยุโรป เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงระบบการเตือนภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับควัน และความร้อนเพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนไฟป่าไปยังสถานีดับเพลิงใกล้เคียงในแคนาดา และการประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในฟิลิปปินส์ภายหลังการเกิดพายุจนส่งผลให้ระบบสื่อสารใช้งานไม่ได้

ปัจจุบันอุปกรณ์ IoT ได้ถูกพัฒนาให้รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในหลากหลายเครือข่ายทั้งอินเทอร์เน็ตประจำที่ อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ และดาวเทียม LEO เพื่อให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์ IoT มีความเสถียรมากขึ้น ลดความเสี่ยงในกรณีที่อินเทอร์เน็ตบางเครือข่ายเกิดขัดข้องหรือในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงเกินกว่าที่เครือข่ายจะรองรับได้ ซึ่งในต่างประเทศเริ่มทดลองใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การเกษตร และการขนส่ง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI, Machine learning และ Digital twin

สำหรับไทยนั้น บริการอินเทอร์เน็ตเครือข่ายดาวเทียม LEO ได้เริ่มใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วผ่านสถานีดาวเทียม LEO

ไทยคม - Globalstar ตั้งแต่ต้นปี 2024 เพื่อให้บริการเชื่อมต่อ IoT ทั้งในไทย และ CLMV อีกทั้ง ยังมีสถานีดาวเทียม LEO ของ OneWeb ที่ทางบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด อยู่ระหว่างรอรับใบอนุญาตเปิดใช้งานจากสำนักงาน กสทช. เพื่อให้บริการทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ในพื้นที่ห่างไกล และ IoT โดยระยะแรกอินเทอร์เน็ตเครือข่ายดาวเทียม LEO เริ่ม

ทดลองใช้งานในด้านความปลอดภัยจากการติดตามตำแหน่งเสื้อชูชีพของนักท่องเที่ยวทางทะเลในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน อีกทั้ง ภาครัฐมีแผนจะใช้ในการประสานงานของเจ้าหน้าที่ในภารกิจดับไฟป่าอีกด้วย

 อย่างไรก็ดี แม้การใช้งานดาวเทียม LEO ในไทยจะยังไม่ได้ถูกใช้งานจริงในภาคธุรกิจ แต่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างไร้รอยต่อมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่การใช้งาน IoT มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการทรานส์ฟอร์มของภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้น ผู้ให้บริการดาวเทียม LEO จึงจำเป็นต้องพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการในไทยที่มีความต้องการเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น บริการสำหรับธุรกิจคลังสินค้าในการติดตามตำแหน่งสินค้าภายในพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่ และระหว่างการขนส่งเพื่อช่วยในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และป้องกันการสูญหาย นอกจากนี้ การเข้ามาของดาวเทียม LEO ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการ IoT ในการพัฒนาอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ให้รองรับการเชื่อมต่อดาวเทียม LEO ที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้การบริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายดาวเทียม LEO นอกจากจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามเป้าหมายของภาครัฐได้อีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์