ปิดบัญชี 'ไทยสมายล์' 11 ปี ขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านบาท การบินไทยรับภาระต่อ

ปิดบัญชี 'ไทยสมายล์' 11 ปี ขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านบาท การบินไทยรับภาระต่อ

"การบินไทย" เร่งสางบัญชีทางการเงิน เตรียมแจ้งยุติกิจการ "ไทยสมายล์" พร้อมรับโอนหนี้สินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และบริหารสินทรัพย์ที่เหลือ 1,250 ล้านบาท หลังปรับโครงสร้างองค์กรควบรวม - คืนโค้ดบิน WE แล้วเสร็จ

KEY

POINTS

  • "การบินไทย" เร่งสางบัญชีทางการเงิน เตรียมแจ้งยุติกิจการ "ไทยสมายล์" พร้อมรับโอนหนี้สินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และบริหารสินทรัพย์ที่เหลือ 1,250 ล้านบาท
  • เผยคืบหน้าปรับโครงสร้างองค์กรควบรวมกิจการ โอนเครื่องบินแบบ A320-200 จำนวน 20 ลำ พร้อมทั้งบุคลากรภายใต้กลุ่มธุรกิจการบินให้แก่การบินไทย พร้อมคืนโค้ดบิน WE แล้วเสร็จ 
  • ระบุปัจจุบันไทยสมายล์ยังไม่มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน อยู่ระหว่างเคลียร์บัญชีทางการเงิน ล่าสุดปี 2566 งบแสดงฐานะการเงินเฉพาะกิจการ ยังพบว่ามีผลขาดทุนสะสมกว่า 20,929 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ที่ราว 9,676 ล้านบาท

ภายหลังจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าแผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ปี 2564 ได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก รวมถึงขายหุ้นสายการบินนกแอร์ออกไป และควบรวมสายการบินไทยสมายล์ให้กลับมาอยู่ภายใต้การบินไทย

สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2556 ในสมัยที่ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย โดยตั้งเป็น บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท และการบินไทยถือหุ้น 100% 

รวมทั้งเริ่มทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2557 จากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 เส้นทาง ภายใต้รหัสสายการบิน WE และมีเที่ยวบินสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 เที่ยวบิน WE268 เส้นทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น.

แหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าควบรวมกิจการสายการบินไทยสมายล์ โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยได้รับโอนเครื่องบิน 20 ลำ ซึ่งเคยอยู่ในฝูงบินของไทยสมายล์นำมาทำการบินภายใต้สายการบินไทยแล้ว 

ขณะที่สายการบินไทยสมายล์อยู่ระหว่างจัดการบัญชีทางการเงิน ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์อื่น และหนี้สินคงค้าง ก่อนที่จะแจ้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อจดแจ้งเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด

“ตอนนี้การทำธุรกิจของไทยสมายล์นำกลับมาดำเนินการภายใต้การบินไทยหมดแล้ว ทั้งเครื่องบิน เส้นทางบินและพนักงาน โดยไทยสมายล์เร่งเคลียร์บัญชีทางการเงิน สินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด โดยปลายทางสุดท้ายการบินไทยจะต้องรับโอนสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดมาบริหารจัดการก่อนแจ้งเลิกกิจการ”

นอกจากการโอนฝูงบินของไทยสมายล์ให้การบินไทยแล้ว ไทยสมายล์คืนโค้ดการบิน WE ให้กับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แล้วเสร็จ ส่งผลให้ไทยสมายล์สิ้นสุดการเป็นผู้บริหารสายการบิน 

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถปิดกิจการให้แล้วเสร็จ 100% เพราะยังมีภาระหนี้สินทางบัญชี และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ต้องดำเนินการโอนถ่ายมายังการบินไทย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

ปิดบัญชี \'ไทยสมายล์\' 11 ปี ขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านบาท การบินไทยรับภาระต่อ

แหล่งข่าว กล่าวว่า การควบรวมกิจการไทยสมายล์ จะส่งผลต่ออัตราการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องบินของไทยสมายล์เฉลี่ย 9 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12-13 ชั่วโมงต่อวัน และบางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 16 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามีปริมาณการใช้เครื่องบินหนักมาก เมื่อนำเครื่องบิน 20 ลำมาเสริมจะทำให้การบินไทยบริหารจัดการอัตราการใช้เครื่องบินได้เพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้น

ดังนั้นการควบรวมกิจการแม้ว่าท้ายที่สุดการบินไทยจะรับภาระหนี้สินของไทยสมายล์ แต่การบินไทยได้สินทรัพย์ไทยสมายล์มาด้วย โดยเฉพาะเครื่องบิน 20 ลำ ที่ทำให้การบินไทยบริหารจุดต่อเส้นทางบินใน และต่างประเทศได้ดี สามารถเปิดเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางบินระยะใกล้ โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่ไทยสมายล์เคยทำการบิน และเป็นตลาดศักยภาพสูง

นอกจากนี้ ไทยสมายล์ได้รายงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าถึงงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 และงบกำไรขาดทุน และกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น และงบกระแสเงินสดสำหรับปี 2566 โดยงบการเงินปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,250 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 1,077 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 173 ล้านบาท

ขณะเดียวกันมีหนี้สินรวม 10,926 ล้านบาท โดยหนี้สินคงเหลือทั้งหมดเป็นหนี้สินหมุนเวียน แบ่งประเภทเป็น หนี้สินเจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้อื่น 10,759 ล้านบาท ประมาณการหนี้สินระยะสั้น 143 ล้านบาท และหนี้สินหมุนเวียนอื่น 23 ล้านบาท 

นอกจากนี้ในงบแสดงฐานะการเงินเฉพาะกิจการ ยังพบว่ามีผลขาดทุนสะสมกว่า 20,929 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ที่ราว 9,676 ล้านบาท

อีกทั้งในส่วนงบกำไรขาดทุนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 พบว่ามีรายได้รวม 9,868 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่เกิดจากการขายหรือการให้บริการ 9,583 ล้านบาท และรายได้อื่น 282 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,178 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 940 ล้านบาท

รวมทั้ง ได้รายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยในระหว่างปี 2566 ผู้บริหารของการบินไทย และที่ประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยมีมติอนุมัติให้บริษัทโอนเครื่องบินแบบ A320-200 จำนวน 20 ลำ พร้อมทั้งบุคลากรภายใต้กลุ่มธุรกิจการบินให้แก่การบินไทย

โดยไทยสมายล์ได้ยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินดังกล่าวที่มีกับการบินไทย และได้โอนเงินประกันการบำรุงรักษาเครื่องบินตามสัญญาเช่า ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงานสำหรับบุคลากรภายใต้กลุ่มธุรกิจการบิน และประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ กลุ่มธุรกิจการบินให้กับการบินไทย 

และไทยสมายล์กับการบินไทยไม่มีภาระหนี้สินระหว่างกันจากรายการดังกล่าว รวมเป็นจำนวน 9,453.37 ล้านบาท ซึ่งได้แสดงไว้เป็นส่วนเกินทุนจากการที่บริษัทใหญ่รับภาระหนี้สินแทนไทยสมายล์ในงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2567 ไทยสมายล์โอนปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของการบินไทยเสร็จสิ้น และได้หยุดการให้บริการแล้ว และไทยสมายล์อยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจอื่น

อย่างไรก็ตามไทยสมายล์ยังไม่มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนในปัจจุบัน ดังนั้นไทยสมายล์ได้จัดทำงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยใช้เกณฑ์อื่นที่มิใช่เกณฑ์การดำเนินงานต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ไทยสมายล์มีรายการ และความสัมพันธ์อย่างมีสาระสำคัญกับการบินไทย และบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นงบการเงินนี้อาจไม่แสดงถึงเงื่อนไขที่อาจมีอยู่ หรือผลการดำเนินงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไทยสมายล์ได้ดำเนินงานโดยปราศจากความสัมพันธ์กันดังกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์