รับสังคมสูงวัย ‘คลัง’ งัด ‘หวยเกษียณ’ ดึง 20 ล้านคน ออมเพิ่ม
ภาระรัฐบาลดูแลผู้สูงอายุสูงขึ้นต่อเนื่อง ปี 2567 เบี้ยสูงวัยเฉียดแสนล้าน “คลัง” ชงออกนโยบาย “หวยเกษียณ” จับนิสัยคนไทยชอบเสี่ยงดวง หวังสร้างแรงจูงใจ ให้แรงงานนอกระบบ สมาชิก กอช. และผู้ประกันตน มาตรา 40 มีเงินออมเพิ่ม “ทีดีอาร์ไอ” หนุนเพิ่มจำนวนผู้ออมเงิน ลดภาระงบประมาณ
KEY
POINTS
- ภาระงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี งบปี 67 เฉียดแสนล้าน
- เปิดตัว "หวยเกษียณ" จับพฤติกรรมคนไทยชอบเสี่ยงดวง เป็นกลไกการออมสะสมจนอายุ 60 ปี
- เล็งกลุ่มสมาชิก กอช. แรงงานนอกระบบ ผู้ประกันตน ม.40 ราว 20 ล้านคน ร่วมลุ้นเงินล้านทุกวันศุกร์ 17.00 น.
- นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณ 780 ล้านบาทต่อปีในการออกรางวัล
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นด้วยการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเป็นภาระงบประมาณในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่นับวันก็จะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้ว การที่จะพึ่งพาเพียงแค่ระบบงบประมาณก็อาจจะไม่มีทางรับไหว
ในปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66 ล้านคน
ปัญหาการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ หรือให้ผู้สูงอายุมีเงินออมรองรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีนโยบายรองรับ ทั้งนี้ปัจจุบันสวัสดิการที่ภาครัฐจัดสรรให้กับผู้เกษียณอายุ คือ เงินผู้สูงอายุที่จ่ายให้แบบขั้นบันได โดยรายจ่ายในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในแต่ละปีงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน
ในขณะที่งบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน, ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 86,000 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณ 90,000 ล้านบาท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณานโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” ถือเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการออม โดยจะออกรางวัลทุกสัปดาห์ ส่วนสลากที่ไม่ถูกรางวัลจะเก็บสะสมเป็นเงินออม ซึ่งจะไม่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ จนกว่าจะอายุครบ 60 ปี
ทั้งนี้ สลากเกษียณจะออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นรูปแบบสลากชุดในรูปแบบดิจิทัล โดยที่ไม่ต้องเลือกเลข ซึ่งจะมีการจำหน่ายในราคาใบละ 50 บาท โดยกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน และเปิดให้ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน กอช.
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า โดยการดำเนินงานในระยะแรกจะขายให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก 20 ล้านคน ประกอบด้วย 1.สมาชิก กอช. 2.ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ 3.แรงงานนอกระบบ โดยอาจะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมภายหลัง ทั้งนี้ กอช. จะทำงานร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อออกแบบระบบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิก กอช.ซื้อสลากได้ทุกวัน และออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท รวม 10,000 รางวัล
โดยผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลที่เบิกเงินสดมาใช้ได้ทันที ส่วนเงินค่าซื้อสลากจะถูกเก็บไว้เป็นเงินออมในบัญชี กอช.ของผู้ซื้อสลาก แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม โดย กอช.จะบริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากทั้งชีวิตออกมาได้
ทั้งนี้ เงินรางวัลจะเป็นการใช้เงินงบประมาณสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท หรือปีละ 780 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่ามีจำนวนน้อยกว่างบประมาณสำหรับนโยบายการให้เบี้ยคนชรามาก
ย้ำแก้ปัญหาคนไทยแก่แต่จน-ไม่มีเงินเก็บ
นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า นโยบายนี้จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอ ต้องอาศัยกลไกการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ
อย่างไรก็ตาม ในการซื้อสลากเกษียณ จะเป็นการซื้อหวยถูกกฎหมาย อีกทั้งเงินก็ไม่หายไปไหน กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ และเมื่อถูกรางวัลก็จะได้รับเงินทันที หากไม่ถูกรางวัลเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อสลากก็จะเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ดังนั้น ยิ่งซื้อมากยิ่งลุ้นมาก และมีเงินออมมากขึ้น
“นโยบายนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง และแจ้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงไม่เกิดขึ้นเร็วแน่นอน แต่จะพยายามเร่งรัดเร็วที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิก 3 ล้านราย โดยตั้งเป้าว่านโยบายสลากเกษียณจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาออมเงินเพิ่มเติมมากขึ้น และทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 16-17 ล้านราย
“ทีดีอาร์ไอ” หนุนเพิ่มจำนวนผู้ออมเงิน
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทยในการดึงให้คนไทยออมเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินที่ต้องซื้อหวยใต้ดินกลายมาเป็นเงินออม โดยปัจจุบันไทยมีปัญหาผู้เกษียณมีเงินไม่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยผลการศึกษาพบว่าจำเป็นต้องมีประมาณ 3-4 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาจุดที่เหมาะสมในกรณีมีนโยบายดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร เพราะมีผลผูกพันต่องบประมาณ รวมถึงการบริหารเงินของผู้ซื้อหวยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐบริหารกองทุนในลักษณะนี้หลายกองทุนสามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ รวมทั้งเงื่อนไขการออมไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท จะเพียงพอหารือไม่
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องพิจารณาในกรณีที่ไม่ดำเนินการนโยบายดังกล่าวจะมีผลต่อการตั้งงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุอย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งงบประมาณเกือบปีละ 1 แสนล้านบาท และในอนาคตอาจจะต้องตั้งงบประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท
แนวโน้มรายจ่ายงบด้านสังคมพุ่งตาม
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของรัฐบาลพบว่า มีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน ย้อนหลังในปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 56,462 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 9.96 ล้านคน, ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 79,300 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.4 ล้านคน ส่วนปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน
ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 ใช้งบประมาณรวม 86,000 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน โดยในปี 2567 ใช้งบประมาณรวม 71,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณไว้ 90,000 ล้านบาท สำหรับเป็นวงเงินที่ใช้แจกให้กับผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากรายจ่ายภาครัฐที่จ่ายเป็นเบี้ยผู้สูงอายุในแต่ละปีแล้ว รายจ่ายด้านงบประมาณด้านสังคมของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ารายรับของงบประมาณด้านสังคม ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณของภาครัฐ โดย รายรับหรือเงินที่โครงการ มาตรการ หรือกองทุน ได้รับมาเพื่อดำเนินมาตรการด้านสังคม ส่วนใหญ่ มาจากงบประมาณประจำปีจากภาครัฐ (Subsidies paid by the Government)
โดยมีสัดส่วนประมาณ 73.9% ของรายรับของงบประมาณด้านสังคมทั้งหมด และหากรวมกับ เงินสมทบที่มาจากภาครัฐ (Government’s contributions) เช่น เงินสมทบจากรัฐในกองทุน ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สัดส่วนที่มาจากภาครัฐจะเพิ่มเป็น 80.2% ขณะที่เงินสมทบจากประชาชน อาทิ สถานประกอบการ และแรงงานที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสัดส่วน 10.8% ซึ่งลดลงจาก 16% ในปี 2562 เนื่องจากช่วง COVID-19 รัฐบาลลดจ่ายเงินสมทบ
ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐในการจัดสวัสดิการ และความคุ้มครองทางสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องจากในอดีต สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ที่มาจากเงินอุดหนุน และเงินสมทบจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีสัดส่วน 78.2% หรือมีมูลค่ารวม 5.7 แสนล้านบาท ในปี 2555 จาก 1 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 1.8 เท่า
ด้านการใช้จ่ายของงบประมาณด้านสังคม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการให้ความสำคัญ กับการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายด้านสังคมมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน 7.15% ต่อจีดีพี ในปี 2564 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.97% ในปี 2555
รัฐอุ้มเกษียณอายุ-เสียชีวิต สูงสุด 41%
โดยเมื่อพิจารณาลักษณะของโครงการด้านสังคม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการให้เงินช่วยเหลือและเงินทดแทนรายได้ ที่ส่งตรงไปให้แก่ผู้รับประโยชน์ โดยในปี 2564 รายจ่ายดังกล่าวมีสัดส่วนสูงถึง 57% ของรายจ่ายของงบประมาณด้านสังคมทั้งหมด รองลงมาเป็นรายจ่ายสำหรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินอยู่ที่ 36.9% ขณะที่ หากพิจารณาตามสิทธิประโยชน์ พบว่ารายจ่ายของงบประมาณด้านสังคมที่รัฐให้การช่วยเหลือมากที่สุดคือ การเกษียณอายุ/ เสียชีวิต โดยมีสัดส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 41% รองลงมาเป็นรายจ่ายด้านสุขภาพ และด้านความยากจนที่มีสัดส่วน ประมาณ 33.7% และ 8.4% ตามลำดับ
แนวโน้มของช่องว่างระหว่างรายรับ และรายจ่ายของโครงการทางสังคมที่มีการสมทบ (contributory) ที่แคบลง ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมในอนาคต เมื่อพิจารณา งบประมาณทางสังคมของโครงการที่มีการจ่ายสมทบจากภาคส่วนต่างๆ พบว่า รายรับของโครงการเพิ่มขึ้นในอัตรา ที่ช้ากว่ารายจ่าย ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรายรับ และรายจ่ายลดลงจาก 56.3% เมื่อเทียบกับรายรับทั้งหมด ในปี 2555 เหลือเพียง 35.3% ในปี 2564
ความแตกต่างระหว่างรายรับ และรายจ่ายที่ลดลงถือเป็นประเด็น ที่น่ากังวล โดยเฉพาะกับโครงการที่ต้องมีการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่สมาชิก อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ขณะที่รายรับจากเงินสมทบของสมาชิกใหม่มีแนวโน้มจะน้อยลง และจำนวน ผู้รับประโยชน์ที่เกษียณอายุจะเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้ง สิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่อัตรา เงินสมทบยังไม่มีทิศทางที่จะปรับเพิ่มตาม และอาจต้องปรับลดตามเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ นอกจากนี้ การลงทุนของกองทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามคาด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ในอนาคตเงินทุนสะสมในกองทุน มีความเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนี้สาธารณะต่อ “จีดีพี” สูงกระทบสถานะการคลัง
จากสถานการณ์ และข้อค้นพบข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัด และอุปสรรคของระบบความคุ้มครองทางสังคมของไทยที่การจัดสรรงบประมาณด้านสังคมในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับเกษียณอายุ และเสียชีวิตเป็นหลัก ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายด้านสังคม อีกทั้ง บทบาทของประชาชนผ่านการจ่ายภาษีต่อระบบสวัสดิการทางสังคมยังมีจำกัด ส่งผลให้งบประมาณภาครัฐขาดดุล มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ โครงการที่ให้ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังเป็นภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องระยะยาว ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิด ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 41.1% ปรับขึ้นมาเป็น 61.8% ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้ สถานะทางการคลังตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณด้านสังคมในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์