‘TDRI‘ ชี้ปัญหา ‘SME ไทย’ ใหญ่กระจุกเล็กกระจาย แข่งขันยาก
‘TDRI’ ระบุเจ้าของกิจการ SME ไทย มีภาวะอายุมากการศึกษาน้อย เสี่ยงปรับตัวไม่ทัน แนะ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงิน ‘สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย’ หนุนสร้างกลไกบ่มเพาะให้ SME ถึงแหล่งเงินในระบบ
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” จัดโดยธนาคารแหงประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 ว่า SME ไทยมีลักษณะใหญ่กระจุกเล็กกระจาย โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีอายุเยอะและการศึกษาไม่สูง
ทั้งนี้ ในปี 2538 อายุเฉลี่ยของเจ้าของกิจการ SME ไทยอยู่ที่ประมาณ 42 ปี ขณะที่ในปี 2566 อายุเฉลี่ยของเจ้าของกิจการ SME ไทยอยู่ที่ประมาณ 50 ปี ในด้านการศึกษา พบว่ามีประมาณ 30% ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
ขณะที่ 25% จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ SME อาจไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อโลกได้ ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพให้ SME จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้แข่งขันได้ด้วย
สำหรับแนวทางการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีข้อเสนอ ดังนี้
1.การสร้างฐานข้อมูลรายกิจการที่ครบถ้วน โดยควรมีการปรับอีโคซิสเต็มการใช้ข้อมูลในภาพรวม เป็นการใช้ข้อมูลแบบรายบุคคล เนื่องจากทำให้ออกมาตรการให้ตรงจุด ขณะที่รัฐบาลควรมีการกันงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งสม่ำเสมอ เช่น ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเรื่องการค้ำประกันให้กับ SME
2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น โดยปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างให้แข่งขันได้
3.การเพิ่มความทันสมัยของผู้ประกอบการ และแนวทางที่ทำให้เอสเอ็มอีคิดนอกกรอบ เช่น สนับสนุนให้ใช้ระบบบัญชีที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับเอสเอ็มอีได้มาก
4.การแก้กฎหมายให้ บสย. ขยายการค้ำประกันไปถึงผู้ให้กู้รายอื่นนอกเหนือจากสถาบันการเงิน ปัจจุบันเกาหลีใต้แก้กฎหมายประมาณ 2 ครั้งแล้วเพื่อให้กฎหมายใช้งานได้จริง
5.เพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงิน เพื่อไม่ให้มีภาคส่วนใดต้องรับภาระเพียงภาคส่วนเดียว
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลุ่มที่เปราะบางและยังคงชะลอตัว โดยไม่ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างที่คาดหลังสถานการณ์โควิด รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาอย่างรอบด้าน
สำหรับสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ธุรกิจ SME จำนวนไม่น้อยอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ รวมทั้งมีแรงงานที่อยู่นอกระบบด้วย ปัจจุบันโครงสร้างของธุรกิจ SME กว่า 71% เป็นบุคคลธรรมดา และทำธุรกิจภาคการค้าและบริการเป็นหลัก หมายความว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ SME เข้าถึงก็เป็นกลุ่มพิโกไฟแนนซ์
ทั้งนี้ การจะดึงให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้ต้องการแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ และภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ออกแบบนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์ โดย 3 มาตรการหลักที่มองว่าอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
1.มาตรการในการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำและฟื้นฟูหนี้ NPL
2.มาตรการยกระดับขีดความสามารถ SME และแรงงาน
3.มาตรการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SME
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีสัดส่วนสินเชื่อ SME ในธนาคารพาณิชย์เพียงแค่ 20% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 18 ล้านล้านบาท ส่วนแบงก์รัฐมีพอร์ตสินเชื่อของ SME ราว 39% เพราะฉะนั้นกลไกของแบงก์รัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วน 36% เป็นหนี้นอกระบบ หรือคิดเป็นราว 1.14 ล้านราย
โดยจากผลสำรวจพบว่าธุรกิจ SME ต้องการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทว่ากลับพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูง การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ขั้นตอนในการขอสินเชื่อยุ่งยากและล่าช้า และขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุน
“ผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่เข้าระบบและไม่มีความพร้อมเนื่องจากความรู้เรื่องบัญชีและภาษีที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลังการขอสินเชื่อ ซึ่งแบงก์รัฐหลายแห่งเริ่มมีโปรแกรมนี้แล้ว"
รวมทั้งการให้ บสย.โฟกัสไปที่การค้ำประกันให้กับภาครัฐ ทั้งกองทุนและสหกรณ์ที่รับผิดชอบ SME เพื่อกวาดให้กลุ่มเหล่านี้ เข้ามาในระบบได้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดหนี้นอกระบบ
นายแสงชัย กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อยากให้มีการทบทวนเรื่องการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยวงเงินต่ำเพื่อการประกอบอาชีพ ควรกำหนดให้มีอัตราต่ำกว่า 25% เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ให้การวางโฉนดที่ดินและจำนำทะเบียนรถจัดอยู่ในสินเชื่อที่มีหลักประกัน