EEC เร่งโครงสร้างพื้นฐาน 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เซ็นสัญญาใหม่ปลายปี

EEC เร่งโครงสร้างพื้นฐาน 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เซ็นสัญญาใหม่ปลายปี

บอร์ด กพอ. ติดตามความก้าวหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี เผย “ไฮสปีดสามสนามบิน” เจรจาแก้ไขร่างสัญญาแล้วเสร็จ เตรียมเสนอ ครม.พร้อมเดินหน้าตอกเสาเข็ม ม.ค.2568 ขณะที่เมืองการบินอู่ตะเภาประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้าง คาดออก NTP ได้ภายในปี 2567

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 10 มิ.ย.2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกรรมการและเลขานุการ การประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่ อีอีซีซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่สำคัญ ได้แก่

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญา ตกลงรับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเจรจาหลักการแก้ไขปัญหาโครงการจากผลกระทบโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ข้อยุติแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ กพอ. พิจารณา เพื่อเสนอให้ ครม. ทบทวนหลักการ PPP ตามมติ ครม. ที่อนุมัติโครงการไว้เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในเดือน ก.ค.2567 จากนั้น รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ และส่ง กพอ. และ ครม. เห็นชอบ เพื่อออกหนังสือให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) ภายใน ธ.ค.นี้ และเริ่มงานก่อสร้าง ม.ค.2568

EEC เร่งโครงสร้างพื้นฐาน \'ไฮสปีด 3 สนามบิน\' เซ็นสัญญาใหม่ปลายปี

ทั้งนี้หลักการแก้ไขปัญหา จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐ และเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวนค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดย รฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น

2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนองานจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค ได้ภายในเดือน มิ.ย.2567 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 ด้านงานระบบไฟฟ้า และน้ำเย็นมีความก้าวหน้าภาพรวม 26.32% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความก้าวหน้ากว่า 94.85% งานด้านระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความก้าวหน้ารวม 47.38% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย มีความก้าวหน้ารวม 97.62% เป็นต้น ในส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 และเริ่มก่อนสร้าง ม.ค.2568 นี้ทั้งนี้คาดว่าสนามบินอู่ตะเภาฯ จะเปิดให้บริการภายในปี 2572

EEC เร่งโครงสร้างพื้นฐาน \'ไฮสปีด 3 สนามบิน\' เซ็นสัญญาใหม่ปลายปี

3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F งานก่อสร้างทางทะเล มีความก้าวหน้าในภาพรวม 29.02% โดยพื้นที่ถมทะเล 1 และ 2 ได้ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 อยู่ระหว่างดำเนินการถม คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 ได้ภายในปี 2570

4. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมมีความก้าวหน้า 80.93% งานด้านถมทะเล พื้นที่แปลง LNG Plot (แปลง B) และพื้นที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) มีความก้าวหน้า 30.95% โดยท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

EEC เร่งโครงสร้างพื้นฐาน \'ไฮสปีด 3 สนามบิน\' เซ็นสัญญาใหม่ปลายปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ และรับทราบ การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยอนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้ สกพอ. นำเสนอ ครม. ต่อไป เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง และชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สร้างสมดุลโครงการพัฒนาต่างๆ สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีอีซีทั้งนี้ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมฯ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการของเสีย และมลพิษสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์สำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการน้ำเสีย ของเสีย เฝ้าระวังการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด และในสิ่งแวดล้อม จำนวน 31 โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย อำเภอแกลง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลยุทธ์สำคัญ เช่น การจัดการทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน จำนวน 65 โครงการ อาทิ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแก้มลิงคลองบางไผ่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเกาะแสมสาร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการดำรงชีวิต และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จำนวน 40 โครงการ อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบชายหาดบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี โครงการขับเคลื่อนสู่ Net Zero EEC สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมความเข้มแข็งแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 โครงการ อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์