บันได 6 ขั้นก่อนไทยได้เข้าร่วม"กลุ่มบริกส์"
กลุ่ม BRICSเป็นการรวมตัวของประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเริ่มแรก ปี 2549 เป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China)
โดยประเทศไทยมีแผนจะเข้าร่วมกลุ่มBRICS และได้ส่งหนังสือแสดงความประสงค์เข้าร่วมความร่วมมือนี้แล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา
กลุ่มBRICS คืออะไร
นอกจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของตัวย่อของชื่อกลุ่มBRICS แล้ว เมื่อปี 2553 ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) จะเข้าร่วมจึงมีตัว S เติมเข้าไป จากนั้นเมื่อต้นปี 2567 อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 10 ประเทศและในปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มมากกว่า 40 ประเทศ
วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS คือ
การสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศพัฒนาแล้วโดยเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง ประเทศสมาชิกมีการจัดการประชุมและการทำงานร่วมกันในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันด้านเศรษฐกิจและการเงิน มีการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB)เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ และด้านการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลและลดการพึ่งพาจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเน้นการสร้างความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
หากไทยได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มBRICS
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าในเชิงโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมิติต่าง ๆ นั้นด้านการส่งเสริมการส่งออกประเทศสมาชิก BRICS มีความต้องการสินค้าที่หลากหลายประเภท เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 20.1% ของการส่งออกทั้งหมด มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.4% ซึ่งสวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ติดลบ 1.0% โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย
“การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ในปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก สัดส่วน 28.3% ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้น 28.6 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 5.6% หรือ มากกว่าอัตราขยายตัวของโลกที่ 3.1% สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก”
นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ สัดส่วน 45.5% สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้ามาก ทำให้ผู้ส่งออกมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการต่าง ๆ
ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การร่วมมือกับประเทศ BRICS อาจเปิดโอกาสให้ไทยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและ
เทคโนโลยีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเครือข่ายคมนาคม การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
ทั้งนี้ ธนาคาร NDB ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม BRICS เพื่อให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยในปี 2567 NDB ตั้งเป้าที่จะให้กู้เงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจีนและอินเดียจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย
การสร้างโอกาสทางการลงทุน
นักลงทุนจากประเทศ BRICS อาจเห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการผลิตการบริการ และการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ
จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงที่สุด ด้วยมูลค่า 159,387 ล้านบาท นอกจากนี้ จีนยังติดอันดับ 1ใน 5 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจประเทศไทยของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง การรับจ้างผลิตสินค้า และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
การสนับสนุนการท่องเที่ยว
การเป็นสมาชิก BRICS อาจนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า หรือการทำข้อตกลงให้ประชาชนของประเทศสมาชิกเดินทางระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศ เทียบเท่านักท่องเที่ยวชาวจีน โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.61 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และขยายตัวจากปีก่อนถึง 245.31%
การเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเป็นสมาชิก BRICS จะเปิดโอกาสให้ไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกัน การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีรวมถึงการเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาสแสดงจุดยืนและมีบทบาท ในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วม BRICS ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณา เช่น การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและข้อกำหนดของกลุ่ม การแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก ดังนั้น การเตรียมตัวและการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทยในการสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม กลุ่ม BRICS
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค. 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
ที่ประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่15 นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2566 ได้มีมติเห็นชอบเอกสาร “BRICS Membership Expansion Guiding Principles, Standara, riteria and Procedure” ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS 6ขั้นตอน ดังนี้
1.ประเทศที่สนใจจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่ม BRICS ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเมื่อยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ฯ แล้ว จะมีสถานะเป็นประเทศที่แสดงความสนใจ
2.ประธานกลุ่ม BRICS แจ้งให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดทราบ โดยการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศที่สนใจ จะเป็นความลับ
3.BRICS Sherpa (เจ้าหน้าที่อาวุโส)พิจารณาคำขอของประเทศที่แสดงความสนใจตามหลักการและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ที่กำหนด หากผ่านการพิจารณา BRICS Sherpa ก็จะเสนอให้ประเทศดังกล่าวเป็นว่าที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS (Prospective BRICS Member State) เพื่อให้รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS พิจารณาต่อไป
4.รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS นำเสนอรายชื่อประเทศที่ผ่านการพิจารณาในระดับรัฐมนตรีให้ผู้นำประเทศสมาชิก BRICS พิจารณา
5.เมื่อผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เห็นชอบโดยฉันทามติ ประธานกลุ่ม BRICS จะมีมติเชิญประเทศที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าวเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยจะได้รับสถานะเป็นประเทศที่ได้รับเชิญ
6.เมื่อประเทศที่ได้รับเชิญมีหนังสือตอบรับคำเชิญในระดับผู้นำรัฐบาลหรือรัฐมนตรีต่างประเทศถึงประธานกลุ่ม BRICS แล้ว จึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เต็มรูปแบบ (Full Member) อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการของประเทศไทยในการขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยระบุวิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญ ต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ