'ดาต้าเซนเตอร์' ทยอยลงทุนไทย ‘BOI’ ไฟเขียวส่งเสริมบิ๊กคอร์ปลงทุนหมื่นล้าน
บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ วงเงินรวม 56,947 ล้านบาท โดยมีโครงการดาต้าเซนเตอร์ 2 โครงการ วงเงินรวม 10,530 ล้านบาท ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด และโครงการ Data Center ของบริษัทชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา
KEY
POINTS
- ธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ในประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ AI ในการประมวลผล
- รัฐบาลไทยส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ โดยใช้จุดแข็งด้านพลังงานสะอาดและไฟฟ้าที่มีความเสถียรดึงดูดนักลงทุน พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติม
- ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ วงเงินรวม 56,947 ล้านบาท โดยมีโครงการดาต้าเซนเตอร์ 2 โครงการ วงเงินรวม 10,530 ล้านบาท ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด และโครงการ Data Center ของบริษัทชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ธุรกิจหนึ่งที่กำลังมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและในอาเซียนคือการลงทุนในเรื่องของดาต้าเซนเตอร์ ซึ่งขยายตัวตามความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งทำให้มีการเก็บข้อมูลบนคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างการใช้ AI ในการประมวลผลเพิ่มขึ้นำให้ธุรกิจการจัดเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลเติบโตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
รัฐบาลไทยมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ โดยส่งเสริมพลังงานสะอาด และไฟฟ้าที่มีความเสถียรเป็นจุดเด่นของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุน รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงการลงทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทระดับโลกได้มีการประกาศแผนการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ในไทยทั้งที่ประกาศมูลค่าการลงทุนแล้ว และยังไม่ประกาศตัวเลขการลงทุน
โดยดาต้าเซนเตอร์จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของ Digital Transformation, Cloud Computing, IoT และเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบการส่งเสริมการลงทุนจากเอกชนเพิ่มอีก 8 โครงการวงเงินลงทุนรวม 56,947 ล้านบาท
2 บริษัทยื่นขอส่งเสริมลงทุนดาต้าเซนเตอร์
ทั้งนี้ในการส่งเสริมการลงทุนในรอบนี้มีโครงการดาต้าเซนเตอร์ 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 10,530 ล้านบาท จากนักลงทุน 2 ราย ได้แก่
1.โครงการ Data Center ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 3,345 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่ 5 ของบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการนี้เป็นการขยายการลงทุนบนพื้นที่ True IDC East Bangna Campus ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
2. โครงการ Data Center ของบริษัทชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center อันดับต้น ๆ ของโลก เงินลงทุน 7,185 ล้านบาท รองรับ IT Load ขนาด 20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ
ส่งเสริมลงทุนอีก 6 โครงการ
ส่วนอีก 6 โครงการที่บีโอไอมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ได้แก่
1. โครงการผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Bio-Ethylene) ของบริษัท บราสเคม สยาม จำกัด โดยโครงการนี้เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกจากไบโอเอทานอล ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียนจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เงินลงทุน 19,313 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพแห่งแรกในเอเชีย และเป็นโรงงานแห่งที่สองของโลก รองจากบราซิล
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ของบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด เงินลงทุน 2,855 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะรับขยะมูลฝอยในชุมชนเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน
3. โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 21 จำกัด เงินลงทุน 9,396 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากน้ำมันยางดำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล 576 ตัน/ชั่วโมง
4.โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ Cogeneration ของเครือ SCG เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มบริษัท SCG Chemicals เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำระบบ Cogeneration 160 ตัน/ชั่วโมง
5.โครงการโรงพยาบาล ของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนลภูเก็ต จำกัด เป็นศูนย์การวินิจฉัยทางการแพทย์ขั้นสูง ในรูปแบบ Boutique Hospital ขนาด 212 เตียง เงินลงทุน 4,960 ล้านบาท รองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับนานาชาติสู่จังหวัดภูเก็ต
และ 6.โครงการขนส่งทางอากาศสำหรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ของบริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด จำนวน 10 ลำ เงินลงทุน 3,893 ล้านบาท รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า โครงการที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานสะอาด กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว การให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งธุรกิจ Data Center ขนาดใหญ่
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของ Digital Transformation, Cloud Computing, IoT และเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โครงการลงทุนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับไปสู่เศรษฐกิจใหม่