‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

"บีทีเอส" ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ติดตั้งกล้อง และระบบ AI ใต้ขบวนรถไฟฟ้า หวังตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วน พร้อมเพิ่มความถี่ตรวจสอบความปลอดภัยทุก 1 สัปดาห์ ขณะที่ รฟม. สั่งติดตั้งกล้องทุกขบวนโมโนเรล ครอบคลุมสายสีเหลือง และสายสีชมพู

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ หรือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง พร้อมระบุว่า วันนี้ (17 มิ.ย.67) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองกลับมาเปิดให้บริการเดินรถตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี แก่ประชาชนผู้ใช้บริการแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ต้องปิดซ่อมบำรุงจากเหตุการณ์ชิ้นส่วนตัวยึดรางร่วงหล่นลงบนถนนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 

อย่างไรก็ดี จากการร่วมทดสอบเดินรถในวันนี้ พบว่ามีความปลอดภัย ผู้รับสัมปทานได้ปรับปรุง และควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มาตรฐานกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อีกทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบอุปกรณ์รอยต่อ และรางจ่ายไฟที่ติดยึดกับทางวิ่งตามคู่มือซ่อมบำรุงลงจากทุกรอบ 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และในจุดที่เฝ้าระวังพิเศษ จะมีการตรวจสอบทุก 1 สัปดาห์ 

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

นอกจากนี้ ผูัรับสัมปทานยังดำเนินการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งได้ดำเนินการซ่อมบำรุงตามคู่มือ และแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง

"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลสองสายแรกของไทย วันนี้เราไม่ได้มาโทษว่าใครผิด แต่เป็นการร่วมกันปรับปรุงแก้ไขให้ดี ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จึงมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งการติดตั้งกล้องที่ตัวขบวนรถไฟฟ้า และการเข้มงวดตรวจความปลอดภัยให้ถี่ขึ้นในทุก 1 สัปดาห์"

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ชิ้นส่วนตัวยึดรางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองร่วงหล่น ทางผู้รับสัมปทานได้ทำการรื้อถอนรางจ่ายกระแสไฟฟ้า และอุปกรณ์ยึดจับรางฯ ที่เสียหายออกจากระบบ เปลี่ยนแผ่นเชื่อมคานทางวิ่ง (Finger Type Expansion Joint) ที่ชำรุด ณ จุดเกิดเหตุเป็นชุดใหม่ และนำรางจ่ายกระแสไฟฟ้าชุดใหม่ขึ้นติดตั้งแทนของเดิม จากนั้น รฟม. ได้ร่วมกับ ขร. ติดตามการทดสอบระบบต่างๆ และตรวจประเมินความพร้อมของระบบ ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะกลับมาเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ตามปกติครบทั้ง 23 สถานี ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ได้เปิดให้บริการระหว่างเวลา 06.00 – 00.00 น. ด้วยความถี่ทุก 10 นาทีต่อขบวน นอกช่วงเวลาเร่งด่วน และความถี่ทุก 5 นาทีต่อขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 07.00 – 09.00 น. และเวลา 17.00 – 20.00 น.) โดยหลังจากนี้ รฟม.จะติดตามคุณภาพในการให้บริการ และความเชื่อมั่นในการใช้บริการของผู้โดยสารต่อไป ทั้งนี้ รฟม. ยังได้กำชับผู้รับสัมปทานปรับปรุงคู่มือซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และอยู่ในสภาวะที่พร้อมสำหรับการให้บริการเดินรถแก่ประชาชน

“ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสายสีเหลือง และสายสีชมพู ตอนนี้ได้นำกล้อง และระบบ AI มาติดตั้งที่ตัวขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับกรณีอุปกรณ์มีข้อบกพร่องก็จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันเอกชนเริ่มติดตั้งแล้วในบางขบวน และ รฟม.ได้กำชับให้ติดตั้งในทุกขบวนรถที่ให้บริการ” 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์ ‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’

‘บีทีเอส’ เร่งติดกล้องพร้อมระบบ AI คุมความปลอดภัย ‘รถไฟฟ้าโมโนเรล’