โชว์เคส“ระบบตั๋วร่วม”ในต่างประเทศ “สนข.”เร่งกฎหมายใช้จริงได้ปี 68

โชว์เคส“ระบบตั๋วร่วม”ในต่างประเทศ   “สนข.”เร่งกฎหมายใช้จริงได้ปี 68

“ตั๋วร่วม”คืออะไร และสำคัญอย่างไรต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวเมืองกรุงและเมืองใหญ่ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งรัดให้ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....

เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในการใช้บริการระบบราง สามารถบริหารจัดการต้นทุน ค่าโดยสาร และมาตรฐานบริการ รวมไปถึงประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการพก“บัตรโดยสารใบเดียว”ในการใช้จ่ายค่าบริการทุกระบบรางในประเทศไทย

ข้อมูลจาก โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม...รายงานฉบับสมบูรณ์(Final Report)แผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ระบุถึงโครงสร้างการบริหารจัดการและกำกับดูแลระบบตั๋วร่วม(และค่าโดยสารร่วม)ในต่างประเทศ ว่า สิงคโปร์ ใช้ตั๋วชื่อว่าEZ-Link Card ผู้กำกับดูแลคือ Public Transport Council (PTC) โดยมีผู้ลงทุนคือกระทรวงการคลัง และผู้ดำเนินงานเป็นบริษัท Transit Link  Pte Ltd. ผู้บำรุงรักษา MSI และผู้ประกอบการขนส่ง 

อังกฤษ  ใช้ตั๋วชื่อว่าMayor of London  ผู้กำกับดูแลคือ Transport  for London (Tfl) โดยมีผู้ลงทุนคือเทศบางนครลอนดอน และผู้ดำเนินงาน คือ Tfl  ผู้บำรุงรักษา Tfl 

จีน(กรุงปักกิ่ง)  ใช้ตั๋วชื่อว่า Yikatong Card ผู้กำกับดูแลคือ กระทรวงคมนาคาเพื่อการขนส่ง และส่ื่อสาร และศูนย์ข้อมูล โดยมีผู้ลงทุนคือบริษัท  Yikatong และผู้ดำเนินงาน คือสำนักงานเทศบาลเมืองปักกิ่งและบริษัท Communications Card Co.,Ltd.

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยการผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะมีผลใช้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบริหาร รวมไปถึงรถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานร่วมกับเอกชน ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ที่หายไป จากการปรับลดค่าโดยสาร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน กระทรวงฯ ก็อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางนำเงินไปจ่ายชดเชยเอกชน ผ่านการจัดตั้ง“กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม”โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 1/2567 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่ผ่านมา และผลการศึกษาโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ จะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาและส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง ตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในเดือนมี.ค.2569 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก มีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างยั่งยืน เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงผลักดันร่าง พ.ร.บ. ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  เร่งรัดการเสนอร่าง พ.ร.บ. เพื่อกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปี 2568

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเร่งรัดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาและการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมถึงการส่งเสริม และอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สนข. กรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจาก พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับแล้ว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม

    รายงานข่าวแจ้งว่า ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30โดยแบ่งเป็น

 มาตรา 29กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า“กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม”มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม 

3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วมส่วนแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน   

 มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ 1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

(ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน)

3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต 4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน 5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40  ส่วนข้อ 7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ความพยายามเพื่อสร้างความสะดวกในเดินทางขนส่งประชาชนในเมืองใหญ่หากทำได้สำเร็จจะเป็นเกณฑ์ความสำเร็จเพื่อสร้างขีดความสามารถให้สังคมไทยให้เพิ่มผลผลิตประชาชาติหรือจีดีพีให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่หากความพยายามยังคงเป็นแค่ความพยายามต่อไปเพราะแผนตั๋วร่วมริเริ่มมาหลายปีแล้วก็เป็นอีกส่วนที่สะท้อนว่า ความสำเร็จเท่ากับความพยายามที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

โชว์เคส“ระบบตั๋วร่วม”ในต่างประเทศ   “สนข.”เร่งกฎหมายใช้จริงได้ปี 68