แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ สนร่วมวงใช้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ยันปักหมุดร้านค้าได้

แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ สนร่วมวงใช้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ยันปักหมุดร้านค้าได้

"จุลพันธ์" เผยแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ สนใจร่วมลงทะเบียนร้านค้า ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต การันตีระบบตรวจสอบของส่งถึงผู้รับ และปักหมุดที่อยู่ร้านค้าได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee และ Lazada แสดงความสนใจอยากเข้าร่วมลงทะเบียนร้านค้าในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งแพลตฟอร์มยืนยันว่าระบบการันตีได้ว่าของจะส่งถึงมือผู้รับ และผู้ขายสามารถระบุโลเคชั่นร้านค้าของตนเองได้ว่าอยู่ในพื้นที่ใด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ก็จะไปดูรายละเอียดในส่วนนี้ให้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในปัจจุบันของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ และยังกำหนดให้เป็นการใช้จ่ายรูปแบบเผชิญหน้ากัน หรือ face to face เท่านั้น

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยถึงการกำหนดสินค้าที่ไม่ร่วมรายการ (Negative List) ในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมกำหนดให้ใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ โดยอยากให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปทบทวนรายละเอียดของสินค้ากลุ่มดังกล่าวอีกครั้ง 

"การใช้จ่ายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องคำนึงถึง 3 มิติคือ การส่งเสริมการผลิตและจ้างงานภายในประเทศ ความง่ายในการใช้งานของประชาชน และการกำกับการใช้จ่ายในโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไข หากระบบไม่สามารถตรวจสอบได้ก็จะต้องกลายเป็นการดำเนินคดี"

 

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับโทรศัพท์มือถือสามารถระบุได้ว่าเป็นสินค้านำเข้า เพราะไม่มีการผลิตในประเทศ แต่สินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าให้ซื้อเฉพาะรุ่นที่ผลิตในไทย จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปสรุปรายละเอียดภายในสัปดาห์หน้า

ส่วนเรื่องความคืบหน้าการส่งหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องการใช้งบประมาณเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยังมีระยะเวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรอบหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ซึ่ง ธ.ก.ส.ต้องดำเนินการ ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ยืนยันว่าสภาพคล่องของธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหา