บอร์ดรถไฟฯ อนุมัติ 3 โครงการทางคู่ ดันลงทุนกว่า 1.64 แสนล้าน
บอร์ดการรถไฟฯ อนุมัติ 3 โครงการทางคู่ล็อตสุดท้าย เตรียมเสนอคมนาคมเดือนนี้ ก่อนรับฟังความเห็นสภาพัฒน์ เคาะแนวทางจัดหาแหล่งเงินลงทุนรวมกว่า 1.64 แสนล้านบาท มั่นใจเปิดประมูลปีนี้
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า บอร์ด ร.ฟ.ท. วันนี้ (19 มิ.ย.) มีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 678 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 164,915.18 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.2 กิโลเมตร วงเงิน 30,422.53 ล้านบาท
2.ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 66.270.51 ล้านบาท
3.ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222.14 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภายหลังโครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากบอร์ด ร.ฟ.ท.แล้ว จะรายงานโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะสอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของแหล่งเงินทุนในการดำเนินงาน โดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ในประเทศ หรือต่างประเทศ รวมทั้งการจัดใช้งบประมาณประจำปี
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.คาดการณ์แผนดำเนินโครงการเบื้องต้น จะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการในช่วงเดือน ก.ค. - ต.ค. 2567 หลังจากนั้นจะออก พรฎ.เวนคืนที่ดิน ระหว่างเดือน พ.ย.2567 - ส.ค.2568 ก่อนเริ่มดำเนินการสำรวจและประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จภายใน พ.ค.2568 และเริ่มกระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในเดือน มิ.ย.2569 - พ.ค.2570
โดยขั้นตอนดำเนินโครงการเหล่านี้ ร.ฟ.ท.จะเดินหน้าไปพร้อมกับกระบวนการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา เบื้องต้นกำหนดว่าจะเริ่มจัดทำ TOR ในช่วงเดือน พ.ย.2567 และประกวดราคาแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2568 หลังจากนั้นจะเร่งรัดให้ผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้างโครงการทันทีในเดือน มิ.ย.2568 โดยโครงการจะใช้เวลาก่อสร้างราว 5 – 6 ปีแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2574
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.เผยว่า การผลักดันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติ ถือเป็น 3 เส้นทางสุดท้ายของแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เนื่องจาก 4 เส้นทางก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ร.ฟ.ท. ทั้งหมดแล้ว และปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เตรียมนำร่องเปิดประมูลส่วนของโครงการช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 29,748 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนปรับปรุง TOR ตามข้อวิจารณ์ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในเดือน ก.ค.นี้
อย่างไรก็ดี มูลค่าการลงทุน 3 โครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่านบอร์ด ร.ฟ.ท.ล่าสุดนั้น พบว่าเพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมในวงเงินลงทุน 1.48 แสนล้านบาท เป็น 1.64 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สาเหตุมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.ค่าน้ำมัน 2. การคำนวณค่า Factor F ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแฝงทางอ้อม อาทิ ค่าประกันภัย ค่าดอกเบี้ย ค่าภาษี โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้กรมบัญชีกลางเป็นผู้คำนวณมาให้ และ 3.ค่าเวนคืนที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้น