FTAไทย-EUรอบ3ไทยยืนเงื่อนไข กฎใหม่ธุรกิจทำได้ห่วงก่อปมกีดกันการค้า

FTAไทย-EUรอบ3ไทยยืนเงื่อนไข กฎใหม่ธุรกิจทำได้ห่วงก่อปมกีดกันการค้า

หลังจากที่ประเทศไทย และสหภาพยุโรป(EU) ตั้งเป้าทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ร่วมกันและมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือปี 2568

ข้อตกลงทางการค้าฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกันนั้นปัจจุบันการเจรจาเดินทางมาถึงรอบที่ 3 แล้ว 

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมนำทีมผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย.นี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อย 20 กลุ่ม ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7. การค้าบริการและการลงทุน 8. การค้าดิจิทัล 9. ทรัพย์สินทางปัญญา 10. การแข่งขันและการอุดหนุน 11. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14. รัฐวิสาหกิจ 15. พลังงานและวัตถุดิบ 16. ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17. ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18. การระงับข้อพิพาท 19. บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน ข้อยกเว้น และ 20. พิธีสารการให้ความช่วยเหลือทางการบริหารจัดการด้านศุลกากรระหว่างกัน 

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า  การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ถือเป็นการสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยตลาดอียูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ ซึ่งคาดว่าเมื่อเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้ประโยชน์ในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ ข้าว สับปะรดกระป๋องและผลิตภัณฑ์ กลุ่มสัตว์น้ำและสัตว์น้ำแปรรูป กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าอื่นๆ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางนอกรถยนต์ ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา และอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งจากอียู และประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ การเจรจารอบที่ 2 เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศไทย การเจรจาในภาพรวมเป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือในรายละเอียดของแต่ละประเด็น แลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติม และสร้างความเข้าใจระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าในการเจรจารอบที่ 3 จะมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย – สภาพยุโรป(อียู) รอบที่ 3

 โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่อียูนำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์ ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบเพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

วันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในฐานะที่ สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับอียูที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และอียู

“ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในประเด็นคงค้างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยท่าทีของไทยจะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลง องค์การการค้าโลก (WTO) และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

 สำหรับประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับ EU คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

รัชวิชญ์ ปิยะปราโมชย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับโทเบียส เพียร์ลิ่ง ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงเศรษฐกิจ และการปฏิบัติการทางภูมิภาค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องภาพรวมด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน ความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

FTAไทย-EUรอบ3ไทยยืนเงื่อนไข กฎใหม่ธุรกิจทำได้ห่วงก่อปมกีดกันการค้า