'สุริยะ' เล็งขยายสัญญา BEM อีก 22 ปี แลกสร้างทางด่วนชั้น 2 - ปรับลดค่าผ่านทาง

'สุริยะ' เล็งขยายสัญญา BEM อีก 22 ปี แลกสร้างทางด่วนชั้น 2 - ปรับลดค่าผ่านทาง

“สุริยะ” ชงแก้สัญญาร่วมทุน BEM ขยายสัมปทานบริหารทางด่วนเพิ่ม 22 ปี 5 เดือน สิ้นสุดปี 2601 แลกเงื่อนไขลงทุนสร้างโครงการ Double Deck ทางด่วนชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมปรับลดค่าผ่านทางไม่เกิน 50 บาท ขีดเส้นต้องเกิดภายในปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางลดค่าทางด่วน โดยเฉพาะทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 ซึ่งมีด่านเก็บค่าผ่านทางหลายแห่ง และประชาชนต้องเสียค่าผ่านทางในอัตราที่สูง 85 - 90 บาทขอให้หาแนวทางปรับลดเหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดเส้นทาง

โดยความคืบหน้าในขณะนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนคู่สัญญาคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM คาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 แต่อย่างไรก็ตาม การลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน - พระราม 9 ทาง กทพ.จะมีการประเมินทุกๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตามสถานการณ์

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีนโยบายแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัด บนทางด่วนสายงามวงศ์วาน - พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงผลักดันก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน - พระราม 9 หรือ Double Deck เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้ศึกษาแนวทางที่สามารถลดการจัดใช้งบประมาณภาครัฐในการก่อสร้างโครงการ โดยได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญาบริหารทางด่วนช่วงดังกล่าวให้เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด

“การก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยเฉพาะช่วงพระราม 9 ที่การจราจรติดขัดอย่างมาก ซึ่งหากภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเองก็อาจจะกระทบต่อทางด่วนที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว ดังนั้นการเจรจากับเอกชนจึงเป็นแนวทางที่ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ และแก้ปัญหาการจราจรตามที่ตั้งเป้าไว้”

\'สุริยะ\' เล็งขยายสัญญา BEM อีก 22 ปี แลกสร้างทางด่วนชั้น 2 - ปรับลดค่าผ่านทาง

อย่างไรก็ดี กทพ.ศึกษาการเจรจากับเอกชนเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยนโยบายปัจจุบันที่กระทรวงฯ ต้องการลดค่าครองชีพประชาชนในส่วนของค่าผ่านทางให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ทำให้มีการศึกษาเงื่อนไขเจรจากับเอกชนขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน เพิ่มเติมจากสัญญาปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2578 เป็นสิ้นสุดในปี 2601

โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

“ผมยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างแน่นอน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผมได้ให้นโยบาย และเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้” สุริยะ กล่าว

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เผยว่า อัตราค่าผ่านทางใหม่ที่ กทพ.ศึกษาจะปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25-90 บาท โดยจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท

อย่างไรก็ดี จากการเจรจากับเอกชนในการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว เอกชนประเมินว่าอาจสูญเสียรายได้กว่า 1 พันล้านบาทต่อปี ซึ่ง กทพ.จะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่หายไป ดังนั้นนอกจากการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนแล้ว กทพ.ยังเจรจาปรับเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้เอกชน จากปัจจุบัน กทพ.จัดเก็บรายได้ 60% และเอกชน 40% ปรับเป็น กทพ.และเอกชนแบ่งรายได้เท่ากันในสัดส่วน 50 : 50

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์