ปัจจัย 6 ประการหนุนเศรษฐกิจ“จีน” ตอบโอกาสตลาดส่งออกไทยปี 2567

ปัจจัย 6 ประการหนุนเศรษฐกิจ“จีน”   ตอบโอกาสตลาดส่งออกไทยปี 2567

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพ.ค. 2567 การส่งออก มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 7.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว1.7% ดุลการค้า เกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์

ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567(ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 120,493.4 ล้านดอลลาร์ขยายตัว2.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 125,954.1 ล้านดอลลาร์ขยายตัว3.5% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,460.7 ล้านดอลลาร์

ด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางดีขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 19.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสินค้าเกษตร กลับมาขยายตัวถึง36.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งขยายตัว 128.0% กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น 

    พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าตลาดจีน ขยายตัว 31.2%  กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ยางพารา และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว1.5%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีแผนการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าผลไม้โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ โดยพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครกวางโจว จัดกิจกรรมร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์จากจีนในการ Live สดขายทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี ตามนโยบายเพิ่มช่องทางการตลาดแบบใหม่โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ของกระทรวงพาณิชย์

      รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจจีนพบว่าปี 2567 จีนมีแนวโน้มเป็นตลาดส่งออกที่สดใสจากปัจจัยหลัก 6 ประการได้แก่ 1.ในปี2567คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตที่4 .7%  โดยการบริโภค ภายในประเทศถือเป็นส่วนสำคัญหลักที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนขยายตัว  ทั้งนี้ นโยบายหลักของจีนระหว่างปี2567-2571 จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงการยกระดับอุตสาหกรรมและนวัตกรรม เทคโนโลยีและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น 

2. คาดการณ์ว่า จีนจะยังคงรักษาการบริโภคออนไลน์อันดับ 1 ของโลก เนื่องจากอัตรา การซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ยืนยันว่าความสามารถ ของการบริโภคและความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น

 3. เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ในจีนจะขยายตัวขึ้น จากสถิติปี 2559 ขนาดธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าราว 5.2 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568  การเติบโตของธุรกิจนี้จะเพิ่มขึ้น40% และครองสัดส่วน 20%ของ GDP จีน 

4.แนวโน้มอุปสงค์-อุปทานสินค้าเกษตรใน 10 ปีข้างหน้าของจีน ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า การนำเข้าไก่และหมูมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากจีนสามารถผลิตได้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่ปลูกไม่ได้ในจีนมีแนวโน้มนำเข้าสูงขึ้น 

5. จีนดำเนินโครงการ “Global 1-2-3 Logistics Circle” เชื่อมต่อการจัดสรรทรัพยากรและ การค้าทั่วโลก จีนจะสร้างระบบการขนส่งที่ทันสมัยครบวงจรภายในปี 2578 ตามที่ได้เผยแพร่ ในเอกสารสมุดปกขาวเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืนของการขนส่งในจีน”โดยเปลี่ยนจุดเน้น จากความเร็วและขนาดไปสู่คุณภาพและประสิทธิภาพ 

6. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดจีนส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ออกใหม่ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการเติบโตของการบริโภค เช่น โทรศัพท์มือถือ อาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ชอบแบรนด์ใดเป็นพิเศษจะติดตามการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ฟังก์ชันใหม่ รูปลักษณ์ใหม่ และประสบการณ์ใหม่จะกระตุ้นความต้องการซื้อมาก ขึ้น สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากผู้บริโภครุ่นใหม่มีกำลังซื้อสูง ให้ความสำคัญกับคุณภาพและการใช้งานได้จริง รูปลักษณ์และคุณค่าทางความรู้สึก ในขณะที่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นพื้นที่ทดสอบตลาดที่ดีที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ ใหม่ ผลการตอบรับจะส่งถึงแบรนด์

ผู้ผลิตทันที

การส่งออกไปตลาดจีนตั้งแต่ต้นปี2567 ที่ผ่านมาติดลบจนอาจต้องประเมินว่าจีนอาจไม่ใช่โอกาสสำหรับการส่งออกอีกแล้วแต่หลัง

ผลไม้สดอย่างทุเรียนออกสู่ตลาดยอดการส่งออกก็ดีดขึ้นมาเพราะมูลค่าการส่งออกทุเรียนรวม8.3 หมื่นล้านบาท เป็นการส่งออกไปตลาดจีนเมื่อเม.ย.ที่ผ่านมามูลค่าสูงถึง 5หมื่นล้านบาท เมื่อประเมินปัจจัยหนุนเศรษฐกิจจีนทั้ง6ประการแล้วก็น่าจะพอขยายโอกาสเพื่อการส่งออกในภาพรวมและในอนาคตต่อไปได้ 

ปัจจัย 6 ประการหนุนเศรษฐกิจ“จีน”   ตอบโอกาสตลาดส่งออกไทยปี 2567