เปิด  10 สินค้าจีไอ ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุด”ทุเรียน”ครองแชมป์

เปิด  10 สินค้าจีไอ ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุด”ทุเรียน”ครองแชมป์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดลิสต์ 10 สินค้าจีไอ ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุด และ 10 สินค้าจีไอ สร้างรายได้ในประเทศสูงสุดเผย"ทุเรียน"ยืนหนึ่งทั้งส่งออก ขายในประเทศ เดินหน้าผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทย สินค้าอัตลักษณ์ขึ้นทะเบียนจีไอต่อเนื่อง

นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( จีไอ) ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจข้อมูล พบว่า สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองระยอง มีมูลค่า 15,645 ล้านบาท โดยมีตลาดสำคัญคือ จีน, อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 4,890.2 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ จีน และมาเลเซีย, อันดับ 3 มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มูลค่า 285 ล้านบาท ตลาดส่งออก คือ จีน สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส, อันดับ 4 มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว 107 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ ฮ่องกง

ส่วนอันดับ 5 มังคุดทิพย์พังงา มูลค่า 80.12 ล้านบาท ตลาด คือ จีน และเวียดนาม, อันดับ 6 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) มูลค่า 35 ล้านบาท ตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น, อันดับ 7 กล้วยหอมทองเพชรบุรี มูลค่า 24 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น,

อันดับ 8 ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร มูลค่า 10.4 ล้านบาท ตลาดจีน, อันดับ  9 กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มูลค่า 10 ล้านบาท ตลาดซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี บรูไน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ และอันดับ 10 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มูลค่า 9.45 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย

 

“สินค้าจีไอที่สร้างรายได้เข้าประเทศทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตร เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของไทยอยู่แล้ว แต่การเป็นสินค้าจีไอ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ส่วนสินค้าที่ยังมีมูลค่าส่งออกน้อย กระทรวงพาณิชย์ ทั้งทูตพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ และพาณิชย์จังหวัด ร่วมมือกันหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เชื่อว่า จะสร้างรายได้จากการส่งออกได้อีกมาก” 

สำหรับสินค้าจีไอ ที่ขายดี และทำรายได้สูงสุดสำหรับตลาดในประเทศ 10 อันดับแรก ที่กรมได้รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศในปี 66 ได้แก่ อันดับ 1 ทุเรียนหมอนทองระยอง มูลค่า 20,530.8 ล้านบาท, อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 6,661.2 ล้านบาท, อันดับ 3 น้ำตาลโตนดเมืองเพชร มูลค่า 4,813 ล้านบาท อันดับ 4 กล้วยหอมทองปทุม มูลค่า 3,268 ล้านบาท

อันดับ 5 มะนาวเพชรบุรี มูลค่า 3,061.4 ล้านบาท, อันดับ 6 กุ้งก้ามกรามบางแพ (จ. ราชบุรี) มูลค่า 2,570 ล้านบาท, อันดับ 7 ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ มูลค่า 2,360.5 ล้านบาท, อันดับ 8 ข้าวหอมมะลิพะเยา มูลค่า 1,969.7 ล้านบาท, อันดับ 9 ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มูลค่า 1,579.2 ล้านบาท และอันดับ 10 มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (จ.สมุทรสาคร) มูลค่า 1,460 ล้านบาท

นางสาวกนิษฐา กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะยังคงเดินหน้าส่งเสริม และผลักดันให้สินค้าท้องถิ่น สินค้าอัตลักษณ์ของพื้นที่ต่างๆ ขึ้นทะเบียนจีไออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการตลาด จากปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอในประเทศแล้ว 205 รายการ และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 8 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 71,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการที่ลงพื้นที่ส่งเสริมการขึ้นทะเบียน การลงพื้นที่เพื่อจัดทำระบบตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานสินค้า รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการตลาดกับผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ในการแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานต่างๆ ได้มีการสอบถามทางผู้ผลิต และผู้ประกอบการ พบว่า การขึ้นทะเบียนจีไอ ส่งผลให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้รายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่น และชุมชนอย่างทั่วถึง และยั่งยืน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ผลิต เกษตรกรดีขึ้น