‘บีโอไอ’ โรดโชว์ญี่ปุ่นพบ 400 บริษัท ชู 10 จุดแข็งไทยเป็นฐานผลิตระยะยาว

‘บีโอไอ’ โรดโชว์ญี่ปุ่นพบ 400 บริษัท ชู 10 จุดแข็งไทยเป็นฐานผลิตระยะยาว

บีโอไอ โรดโชว์ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เปิดเวทีชูจุดแข็งประเทศไทย แจงมาตรการสนับสนุน และสิทธิประโยชน์ล่าสุด รองรับการย้ายฐานการผลิต - จัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ยกระดับเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่

บีโอไอ ร่วมกับคณะผู้แทนการค้าไทย ทีมงานนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ประจำประเทศญี่ปุ่น จัดคณะโรดโชว์การลงทุนไปเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นำโดยหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อจัดงานใหญ่ “Thailand – Japan Investment Forum 2024” ร่วมกับธนาคาร MUFG ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว และนครโอซากา โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 400 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ และกลุ่มการเงินการธนาคาร

นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมเจาะลึกรายอุตสาหกรรม และกิจกรรมให้คำปรึกษารายบริษัท (BOI Clinic) รวมทั้งการพบหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 

 

 

 

  ‘บีโอไอ’ โรดโชว์ญี่ปุ่นพบ 400 บริษัท ชู 10 จุดแข็งไทยเป็นฐานผลิตระยะยาว

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Transforming Investment Landscape” ระบุว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็น นักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ และยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้าง ได้สร้างความเสี่ยงให้กับภาคธุรกิจ ทำให้นักลงทุนระดับโลก รวมถึงนักลงทุนญี่ปุ่นจำเป็นต้องกระจายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มั่นคง และเป็นกลาง ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักถึงความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาสนี้ จึงได้มุ่งปรับปรุงกฎระเบียบ และระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างพื้นที่การลงทุนที่ไม่เพียงแต่ปลอดจากความขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับนักลงทุนในด้านต่างๆ ด้วย” หม่อมหลวงชโยทิต กล่าว

หม่อมหลวงชโยทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าการลงทุนไทย เช่น การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 เขตเศรษฐกิจ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-อียู สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาน ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดการค้า และการลงทุนให้สามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางขึ้นอีกกว่า 30 ประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุน รองรับแผนดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ และค้าขายระหว่างประเทศในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมของบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น ความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันไทย-โคเซ็น ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และการจัดทำหลักสูตร Sandbox โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้าน AI ดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand's New Investment Incentives and Business Opportunities for Japanese Investors” ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทยมานานหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท นับว่ามากที่สุดในอาเซียน และมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด  ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญความท้าทายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจ ที่นำไปสู่สงครามการค้า และการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และวิกฤติโลกร้อนที่ทำให้ทุกฝ่ายมุ่งสู่การลดคาร์บอน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น และเหมาะสมสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะสามารถตอบโจทย์ทิศทางใหม่เหล่านี้ได้ ด้วยข้อได้เปรียบ 10 ด้าน ได้แก่

  1. ระบบสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ
  2. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่าย 5G ดาตาเซนเตอร์ระดับโลก และอัตราใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง
  3. ซัพพลายเชนครบวงจร โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
  4. การเข้าถึงตลาดโลกผ่าน FTA ต่างๆ
  5. บุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมพัฒนาทักษะไปสู่อุตสาหกรรมใหม่
  6. การเปิดกว้าง และอำนวยความสะดวกกลุ่มบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ (Talent) ผ่าน LTR Visa, Smart Visa และศูนย์ OSS
  7. แหล่งพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพ ช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน
  8. ความเป็นกลาง เป็นพื้นที่ไร้ความขัดแย้ง (Conflict-Free Zone)
  9. มีต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม
  10. ความน่าอยู่ของประเทศไทย และปัจจัยสนับสนุนการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เช่น ที่พักอาศัยมาตรฐานสูง โรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง และโรงพยาบาลมาตรฐานโลก JCI กว่า 60 แห่ง เป็นต้น          

‘บีโอไอ’ โรดโชว์ญี่ปุ่นพบ 400 บริษัท ชู 10 จุดแข็งไทยเป็นฐานผลิตระยะยาว

“บีโอไอมุ่งมั่นที่จะดูแล และสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่น ให้เติบโต และขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล และอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งการดึงบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัย และพัฒนา และสำนักงานภูมิภาคอีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ในงาน Investment Forum ครั้งนี้ บีโอไอ ได้นำเสนอมาตรการใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์ ICE, HEV, PHEV และ BEV  มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC, ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

รวมทั้งการจัดตั้ง Startup Matching Fund ภายใต้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง Startup ไทยกับญี่ปุ่นได้ด้วย  

ในส่วนของกิจกรรมประชุมเจาะลึกรายอุตสาหกรรม (Roundtable Meeting) สำหรับอุตสาหกรรม ยานยนต์มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 ราย และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กว่า 30 ราย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทย ได้เข้าร่วม BOI Clinic เพื่อสอบถามข้อมูลเชิงลึกอีกกว่า 20 ราย แสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างจริงจังของการลงทุนในไทย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนการค้าไทย และบีโอไอ ยังได้เข้าพบหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น 4 ราย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทย และการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่

  1. บริษัท Minebea Mitsumi ผู้นำด้านชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอากาศยาน ได้หารือแผนการลงทุนพลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอน
  2. บริษัท Toray Industries ผู้นำด้านเส้นใย สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ ได้หารือแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
  3.  บริษัท Mitsui ผู้นำด้านพลังงาน โลหะ และเคมีภัณฑ์ ได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาโอกาสการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานสะอาด
  4. TeamLab พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลระดับโลก (Immersive Digital Art Museum) ที่มีผู้เข้าชมติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยได้เชิญชวนให้พิจารณามาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่ารวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริม 264 โครงการ เงินลงทุน 79,151 ล้านบาท สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ มีโครงการจากญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริม 74 โครงการ เงินลงทุน 14,981 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์