“ธุรกิจต่างด้าว”จ้างงานไทยแผ่วลง60% สวนทางมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น58%

“ธุรกิจต่างด้าว”จ้างงานไทยแผ่วลง60%    สวนทางมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น58%

กระทรวงพาณิชย์เผยยอดต่างชาติหอบเงินมาลงทุนในไทย 5 เดือนแรกของปี 67 มูลค่า 71,702 ล้านบาท สูงขึ้น 58% ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ สวนทางการจ้างงานลดลง 60% คาดเป็นผลจากการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง เชื่อไ่ทยได้อานิสงค์ถ่ายทอดองค์ความรู้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 317 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 1,212 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 43 ราย หรือเพิ่มขึ้น 16%  โดยปี 2567 มีจำนวน  317 ราย ขณะที่ปี 2566 จำนวน 274 ราย  ด้านมูลค่าการลงทุนพบว่าเพิ่มขึ้น 26,310 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น58%   โดยปี 2567 มูลค่าการลงทุน 71,702 ล้านบาท ส่วนปี 2566 มูลค่าการลงทุน 45,392 ล้านบาท 

จ้างงานคนไทยลดลงจากปีก่อน60%

อย่างไรก็ตาม พบว่าการจ้างงานมีอัตราลดลงสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบการจ้างงานคนไทยลดลง 1,787 ราย หรือลดลง 60% ซึ่งปี 2567 จำนวนการจ้างงานคนไทยเพียง 1,212 คน แต่ปี 2566 จำนวนการจ้างงานคนไทยมีสูงถึง 2,999 คน เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นเพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การพัฒนาดาต้า หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ซึ่งแม้จะมีมูลค่าการลงทุนสูงแต่มีการจ้างงานต่ำในแง่จำนวนบุคคล 

นางอรมน กล่าวอีกว่า การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะการทำงานขั้นสูงให้กับแรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศที่เข้ามาลงทุน

“ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลรูปแบบใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ Hybrid Cloud และ Multi Cloud รวมไปถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิของเครื่องทำความเย็นที่ใช้ติดตั้งกับรถขนส่งขนาดเล็ก เป็นต้น”

ญี่ปุ่นแชมป์ลงทุนไทยสูงสุด

ทั้งนี้ จำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน คือ จำนวน 84 ราย คิดเป็นสัดส่วน 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท สำหรับธุรกิจที่เข้ามาลงทุนเกี่ยวกับ ธุรกิจโฆษณา,ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตคอมพาวด์ โพลิเมอร์,ธุรกิจบริการเคลือบผิว (SURFACE TREATMENT), ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น

ส่วนธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์/ AIR COMPRESSOR/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะ)

รองลงมาคือสิงคโปร์ จำนวน 51 ราย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น

ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์, ธุรกิจบริการด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่ใช้สำหรับจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ, ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย, และ/หรือ ให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์จัดการร้านอาหารและสั่งอาหาร เป็นต้น, ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องใช้ไฟฟ้า/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ แม่พิมพ์)

มูลค่าลงทุนจีนแซงหน้าสหรัฐ

     อันดับต่อมาคือ สหรัฐ จำนวน 50 รายมีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น  ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม,ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย/ เครื่องมือแพทย์/ เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม), ธุรกิจโฆษณา,ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ, การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น,ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/ DRUM BRAKE ASSEMBLY)

      ต่อมาคือจีน จำนวน 38 ราย มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจประเภท ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)  ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็กหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบเพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการเช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนา ระบบตอบกลับสนทนาอัตโนมัติ เป็นต้น ฐธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (โฟมสำหรับยานพาหนะ/ โลหะหล่อขึ้นรูป/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์), ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม

      ฮ่องกง จำนวน 28 ราย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ  ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ ฟิล์มไวแสง), ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลาง ในการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว,ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบการใช้งานระบบ การซ่อมแซม บำรุงรักษาแผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์,ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา/ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์),ธุรกิจบริการ CLOUD SERVICES โดยเป็นการให้บริการในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INFRASTRUCTURE-AS-A-SERVICE)