เพื่อชาวนา กรมการข้าวเปิด 16 สูตร ปุ๋ยคนละครึ่ง จอง ผ่านแอปพลิเคชั่นร่วม ธกส.
กรมการข้าว เดินหน้าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” 2.9 หมื่น ล้านบาท ดึงเอกชนขึ้นทะเบียน16 สูตร เกษตรกรจองผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. มั่นใจช่วยชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิตได้ 10% พร้อมตั้งกรรมการตรวจสอบป้องการทุจริต
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ปุ๋ยคนละครึ่ง ประจำฤดูกาลผลิตปี 67/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวเสนอ กรอบวงเงินงบประมาณโครงการ 29,980.1695 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ชาวนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567- 31 กรกฎาคม 2568
โดยโครงการปุ๋ยคนละครึ่งจะสนับสนุนค่าปุ๋ยส่วนหนึ่งให้เกษตรกร โดยรัฐบาลช่วย50 % และชาวนาจ่ายอีก50 % ในการซื้อปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน) เป้าหมายเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถสั่งซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ได้จากแอปพลิเคชันที่กรมการข้าวและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาร่วมกัน
ทั้งนี้กรมการข้าวจะเชิญชวนผู้ประกอบกิจการผู้ค้าปุ๋ยมาเข้าร่วมโครงการ โดยต้องเป็นการจำหน่ายในราคาปุ๋ยตามสูตรที่กำหนดต่ำกว่าท้องตลาดและจำหน่ายราคาเดียวกันหมด เพื่อแก้ปัญหาชาวนาซื้อปุ๋ยแพง โดยปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือมีหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย ส่วนชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน เบื้องต้น 16 รายการ ได้แก่ (1) ปุ๋ยสูตร 25-7-14 (2) ปุ๋ยสูตร 20-8-20 (3) ปุ๋ยสูตร 20-10-12 (4) ปุ๋ยสูตร 30-3-3 (5) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 (6) ปุ๋ยสูตร 18-12-6 (7) ปุ๋ยสูตร 16-8-8 (8) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 (9) ปุ๋ยสูตร 16-16-8 (10) ปุ๋ยสูตร 16-20-0 (11) ปุ๋ยสูตร 20-20-0 (12) ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (13) ปุ๋ยสูตร 16-16-16 (14) ปุ๋ยสูตร 13-13-24 (15) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ (16) ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งรัดการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นไปตามคู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะรับสมัครสหกรณ์การเกษตรเป็นจุดกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินโครงการให้เกิดความโปร่งใส ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมออกคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อมากำกับดูแลและตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของโครงการและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวนาส่วนการจัดหาปุ๋ยนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งรายชื่อผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้แก่สหกรณ์การเกษตรคัดเลือก โดยการกำหนดราคาปุ๋ยเป็นตามประกาศของกรมการข้าว ส่วนการส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ต้องส่งมอบ พร้อมรายงานผลการวิเคราะห์ปุ๋ยและชีวภัณฑ์
โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถขอใช้สิทธิ์ตามระบบข้อมูลโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ผ่านแอปพลิเคชันของธ.ก.ส. ส่วนการจ่ายเงินสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เกษตรกรต้องชำระเงินสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ตามที่แจ้งความประสงค์ ขณะที่ธ.ก.ส. โอนจ่ายเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้ตามรายงานที่สหกรณ์การเกษตรจ่ายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร
“มั่นใจว่า โครงการนี้จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาได้ 10 % ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 % มีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังได้ปุ๋ยคุณภาพดีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและยกระดับคุณภาพข้าวให้สนองความต้องการของตลาด “
ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน ที่สำคัญสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและ พัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ซึ่งใช้งบประมาณปีละ 54,300 ล้านบาท ดังนั้นจึงประหยัดงบประมาณได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท