ทางรอดประเทศไทย ต้องช่วย ‘คนตัวเล็ก’

ทางรอดประเทศไทย ต้องช่วย ‘คนตัวเล็ก’

ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่เข้ามาช่วยเหลือ หากพวกเขาอยู่รอด ก็จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดไปได้ด้วยเช่นกัน

ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอคอยงบประมาณปี 68 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายต่างๆ ว่าจะเป็น “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก เกิดการใช้จ่าย สั่งผลิตสินค้า จ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นภาษีรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อมาใช้ในหมุนเวียนในการลงทุนให้กับประเทศได้ ซึ่งการเพิ่มสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในระบบก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่

โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีอยู่ประมาณ 400,000 ราย เป็นสมาชิกส สว. ประมาณ 50,000 ราย ส่วนที่เหลือไม่อยู่ในระบบ แต่เป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถอยู่รอดได้

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่ามีวัยแรงงานหรือผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 58.96 ล้านคน แบ่งเป็น
ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.53 ล้านคน (68.74%)
ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.43 ล้านคน (31.26%) 
ผู้มีงานทำ 40.09 ล้านคน (98.91%)
ว่างงาน 0.40 ล้านคน (0.99%) 

ในกลุ่มผู้มีงานทำนั้นอยู่ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ ภาคบริการ 46.87% ภาคเกษตรกรรม 31.54% และภาคอุตสาหกรรม 21.52% ทั้งนี้คาดการณ์ว่าไม่ถึง 30 ปี สัดส่วนแรงงานของไทย ที่มีอายุในช่วง 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียงราว 50% ในปี 2593

ซึ่งในจำนวนคนที่มีงานทำและอยู่ในระบบประมาณ 33 ล้านคนกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่บางส่วน ที่เป็น “ผู้รับจ้างผลิต” หรือ “OEM” (original equipment manufacturer) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องไม่มีสินเชื่อ และอยู่ในภาวะใกล้จะจมน้ำ

เห็นได้จากตัวเลข 5 เดือน แรกของปี 2567 (ม.ค. - พ.ค.) มีโรงงานปิดกิจการ 485 แห่ง สูญเสียเงินลงทุน 13,990 ล้านบาท พนักงานถูกเลิกจ้าง 12,472 คน โดย 3 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้

เมื่อไปดูสาเหตุหลักที่โรงงานเหล่านั้นต้องปิดกิจการลง พบว่ามีสาเหตุมาจากสินค้าส่งออกของไทยได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากไม่มีสินค้าใหม่ รวมทั้งมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเก่า และเป็นการผลิตขั้นกลางหรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ทำให้ขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาพัฒนากระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้าใหม่

รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ดอกเบี้ยเงินกู้และค่าโลจิสติกส์ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่เข้ามาช่วยเหลือพยุงให้ “คนตัวเล็ก” เหล่านี้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ หากพวกเขาอยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดไปได้ด้วยเช่นกัน