‘พิชัย’ ดันลงทุนปลุก ‘เศรษฐกิจ’ ปั้น ‘GDP’ เกิน 3% หนุนตลาดหุ้นฟื้น

‘พิชัย’ ดันลงทุนปลุก ‘เศรษฐกิจ’ ปั้น ‘GDP’ เกิน 3% หนุนตลาดหุ้นฟื้น

“พิชัย” เร่งมาตรการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้โต 3% เรียกถกแบงก์รัฐออกมาตรการแก้หนี้เจาะรายเซกเตอร์ ดันซอฟต์โลน 1 แสนล้าน หนุนดอกเบี้ยกู้ต่ำลง ปลดล็อกประวัติเครดิตบูโร ระบุระยะยาวรัฐต้องลงทุนเพิ่ม ไม่หวั่นขยายเพดานหนี้สาธารณะหากเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Thailand Investment Opportunity” ในงานสัมมนา “Investment Forum 2024: เจาะขุมทรัพย์ลงทุน…ยุคโลกเดือด!” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตลดลงเป็นขั้นบันได นับจากปี 1980 ที่เป็นยุคโชติช่วงชัชวาล ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 2 หลัก แต่แล้วเริ่มสะดุดลงในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 และเติบโตลดลงทุกๆ 5 ปี จาก 5% จนช่วงวิกฤติโควิดที่เติบโตเพียง 0.4% 

ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงฟื้นตัวหลังโควิดเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตเพียง 1.9% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวได้ 3-5%

นายพิชัย กล่าวว่า ในปี 2567 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.4-2.5% แม้ด้วยศักยภาพของประเทศไทย ทั้งด้านพื้นที่ และจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจไทยควรจะเติบโตได้ถึง 3.5% จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ใกล้ 3% และมากกว่า 3% ในปีต่อไป 

ชี้ปัญหาเร่งด่วนแก้หนี้

เมื่อมาดู 3 เสาหลักเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย  ประชาชน ผู้ผลิต และรัฐบาล จะพบปัญหาใน 2 ส่วนคือ หนี้ครัวเรือนภาคประชาชนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 90% ของ GDP หรือประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท ทั้งหนี้บ้าน บัตรเครดิต และหนี้การบริโภค 

ซึ่งการมีหนี้ลดกำลังในการบริโภค และส่งผลต่อเสาหลักที่ 2 คือ ภาคการผลิต ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง และเริ่มขาดความสามารถในการชำระหนี้ เกิดเป็นหนี้เสีย (NPL) ของผู้ประกอบการ

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องสร้างหนี้ และเติมเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการต่างๆ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้เรียกหารือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่ละแห่งเข้ามาเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเซกเตอร์ที่ยังมีปัญหา

"ตอนนี้กำลังเรียกคุยกับแบงก์รัฐแต่ละแห่งว่าจะมีข้อเสนออะไรบ้าง เนื่องจากคนที่เป็นเจ้าหนี้จะรู้ดีที่สุดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยจะเจาะลงไปในรายเซกเตอร์ที่ยังมีปัญหา อาทิ ภาคอสังหาฯ" 

นอกจากนี้ ยังใช้กลไกของแบงก์รัฐโดยการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การดำเนินงานให้ทำเพื่อสังคมมากกว่าสร้างผลกำไร เช่น การออกสินเชื่อซอฟต์โลน โดยธนาคารออมสินวงเงิน 1 แสนล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0.01% ผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงจาก 7-10% มาอยู่ที่ 3-5% นอกจากนี้ ยังมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังทยอยจัดการแก้หนี้รหัส 21 ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้หลุดจากประวัติหนี้เสียของเครดิตบูโรกว่า 2 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาท

ดึงการลงทุนเทคโนโลยีใหม่

นายพิชัย กล่าวว่า บทบาทการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาเป็นการเริ่มเปิดการตลาดประเทศไทยเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และสาขาใหม่ชั้นแนวหน้าของโลก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิส รวมถึงการเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค และการเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค ซึ่งธุรกิจเหล่านี้กำลังมาจ่อคิวเจรจากับประเทศไทย และการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จะเป็นใบเบิกทางในการส่งออก 

นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องจากนักลงทุนที่อยากเข้ามาที่ประเทศไทย ต้องการให้ลดอุปสรรคในการลงทุน (Ease of Doing Business) การขอใบอนุญาต  การถือครองที่อยู่อาศัย แรงงานทักษะสูง และพลังงานสะอาด 

ไม่หวั่นขยายเพดานหนี้ หากเศรษฐกิจโต

“สิ่งเรียกร้องเหล่านี้ของนักลงทุนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลจะต้องหาเงินมาลงทุน ซึ่งอาจบางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แต่หากสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจโตได้การขยับเพดานก่อหนี้ก็ไม่น่ากังวล”

นายพิชัย กล่าวว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ในกรณีที่รัฐมีแผนการลงทุน และมีความเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้ การจะขยายเพดานหนี้สาธารณะไปถึง 75-80% ต่อ GDP ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายในปัจจุบันยังกำหนดให้เพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 70% ต่อ GDP 

“ปัจจุบัน นโยบายเพดานการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล ก็ยังคงนโยบายไว้ที่ 70% ของ GDP ซึ่งเวลานี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่า จะต้องขยายให้มากกว่า 70% ไปด้วยเหตุผลอะไรในเวลานี้”

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจประเทศไทย อยู่ในบริบทที่มีการเติบโตต่อเนื่องที่ 5% ต่อปี การขยับเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ก็จะไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอะไร 

ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาของประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดทิศทาง และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นอีกอย่างหนึ่ง อีกฝ่ายมองเป็นอีกอย่าง อย่างไรก็ตามหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น สะท้อนเป็นความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ที่วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ลงมาอยู่ที่ 1,300 จุด

ส่วนสำคัญที่ต้องแก้ไขคือ การแก้ไขกฎหมายเฉพาะให้มีบทลงโทษผู้กระทำผิด ให้สามารถดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) 

รวมถึงแนวคิดการฟื้นกองทุนวายุภักษ์ 3 จะเป็นแนวทางในการสร้างกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม และเป็นโอกาสในการลงทุนภาคประชาชน ทั้งนี้เรายังอยู่ในระยะของการสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้นจะต้องจัดโครงสร้างของกองทุนให้เป็นที่ยอมรับและเรียกความมั่นใจได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์