'มนพร' ดันท่าเรือบก Dry Port นครราชสีมา ลดความแออัด 'ท่าเรือแหลมฉบัง'
“มนพร” ผลักดันท่าเรือบก Dry Port ยันเกิดแน่ในรัฐบาลนี้ นำร่องจังหวัดนครราชสีมา หวังลดปัญหาความแออัดจากการขนส่งสินค้าเข้า – ออก ท่าเรือแหลมฉบัง
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนา Dry Port จึงเป็นหนึ่งในการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่จะช่วยส่งเสริมโครงข่ายการเชื่อมโยงสินค้าและระบบโลจิสติกส์ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
โดยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 4 จังหวัดที่มีความเหมาะสมที่สุดในการพัฒนา Dry Port เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาล เนื่องจากมีความพร้อมด้านการเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ตอนใต้ และเมียนมา และยังมีศักยภาพที่จะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศจีนได้ในอนาคต
นอกจากนี้ พื้นที่ยังครอบคลุมการขนส่งทั้งทางถนนและทางราง โดยอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมบัง 320 กิโลเมตร ประกอบกับมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญทั้งสินค้าทางการเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และยังเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เน้นการขนส่งภายในประเทศด้วย
นางมนพร กล่าวต่อว่า ตนได้มอบให้ กทท. เร่งสำรวจพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมาที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนา Dry Port และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) ที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดจากการขนส่งสินค้าเข้า – ออก ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งหลักของประเทศในขณะนี้
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือบก Dry Port บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง และบริเวณตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และการประชุมศึกษาแผนการดำเนินการความเป็นไปได้ของรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ร่วมกับสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน
โดยมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ พบว่า มีความเป็นไปได้ของรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับ กทท. ในการพัฒนา Dry Port 4 แนวทาง ได้แก่ รูปแบบพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) รูปแบบการลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชน (Joint Venture) รูปแบบการใช้เงินลงทุนของ กทท. และรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาด้านความพร้อมในการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป