หน่วยงานเศรษฐกิจแนะเพิ่มงบฯโปะหนี้รัฐบาล หวั่นหนี้สูงกระทบเครดิตประเทศ

หน่วยงานเศรษฐกิจแนะเพิ่มงบฯโปะหนี้รัฐบาล หวั่นหนี้สูงกระทบเครดิตประเทศ

3 หน่วยงานเศรษฐกิจ คลัง - แบงก์ชาติ - สภาพัฒน์ประสานเสียงเตือนรัฐบาล เร่งเพิ่มงบฯจ่ายคืนเงินต้นหลังระดับหนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 65% ของจีดีพี แนะตั้งงบฯให้ได้อย่างน้อย 3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวมเพื่อลดภาคเสี่ยงทางภาคการคลัง ที่อาจจะกระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ

KEY

POINTS

  • ภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลก่อหนี้ใหม่อีก 2.75 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 65.6% 
  • 3 หน่วยงานเศรษฐกิจ คลัง - แบงก์ชาติ - สภาพัฒน์ประสานเสียงเตือนรัฐบาล เร่งเพิ่มงบฯจ่ายคืนเงินต้น โดยแนะตั้งงบฯให้ได้อย่างน้อย 3%
  • หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลมองว่าหากปล่อยให้ระดับหนี้สูงเกินไปอาจกระทบกับการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศ 

ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นปรากฏให้เห็นผ่านมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ ครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2

โดยได้มีการอนุมัติให้รัฐบาลก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท จากเดิม 754,710 ล้านบาท รวมเป็น 1,030,580.71 ล้านบาท

ทั้งนี้การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ในครั้งนี้แบ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาลที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 2.69 แสนล้านบาท และแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่รัฐบาลกู้และมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 3.4 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.05% จากเดิมที่อยู่ที่ 61.29% ต่อจีดีพี (ณ สิ้นปีงบประมาณ)

ปริมาณหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อควรระมัดระวังในการบริหารงานเศรษฐกิจของประเทศให้กับรัฐบาลเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น รวมถึงข้อเสนอให้รัฐบาลลดความเสี่ยงทางการคลังลงโดยการตั้งงบประมาณในการชำระหนี้เงินต้นให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบกับสถานะการคลังของประเทศในระยะยาว

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะของประเทศที่ได้เสนอต่อรัฐบาล 4 หน่วยงานดังนี้

1.กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่าการดำเนินการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567  ครั้งที่ 2 นี้จะทำให้มี

ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ร้อยละ 65.6% อย่างไรก็ดี ในการจัดทำประมาณการภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50  แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้ของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

2.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า รัฐบาลควรมอบหมายสำนักงบประมาณให้รับข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในส่วนของต้นเงินและดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้เพียงพอและสอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในบีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะ

ในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่า3%  ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

รวมทั้งควรจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวซ้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังในช่วงถัดไป โดยการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนงอยู่ในเกณฑ์สูงประกอบกับเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยถือเป็นการลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะต่อไป

3.ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ แม้ว่าธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและ กำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากจากทั้งการกู้เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายยจ่าย โดยเฉพาะการก่อหนี้ผ่านเครื่องมือทางการเงินระยะสั้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการระดมทุน เพื่อทดแทนหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะข้างหน้า (refinancing risk)

รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ อีกทั้งควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้ของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณนั้น ควบคู่ไปกับการติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน แต่ไม่สามารถ ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการฯ ได้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

4.ขณะที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ให้ความเห็นว่า ในส่วนของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 2  ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นตัวเร่งให้จำนวนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ การจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่าย

เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้บรรจุรายการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสัดส่วนต่อจีดีพี จำนวน 1.12 แสนล้านบาท ไว้ด้วย และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  ซึ่งมีการกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง จำนวน 865,700 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ คือ

1.จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

2.พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยลดการจัดสรรเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในภาพรวม รวมทั้งให้ดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบชำระหนี้ต้นเงินกู้ของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นอกจากนี้ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินกู้ให้แก่หน่วยงานของรัฐในระยะต่อไป เห็นควรให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติเฉพาะโครงการลงทุนที่จำเป็นและมีศักยภาพ สามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตเป็นหลัก รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ พิจารณาใช้แหล่งเงินอื่นนอกจากแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการในอนาคต เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เป็นต้น

3. จัดลำดับความสำคัญและพิจารณาความเหมาะสมในการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น พิจารณาความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ที่เป็นค่าเงินสกุลเยนให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนลงมาก ทำให้ต้นทุนในการชำระหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นต้น